ท่วมใหญ่‘อุบลฯ’ พิษแผนล่ม จัดการน้ำอีสาน?

ท่วมใหญ่‘อุบลฯ’ พิษแผนล่ม จัดการน้ำอีสาน?

สถานการณ์อุทกภัยกลายเป็นฝันร้ายของคนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะ “พายุโนรู”ทำให้หลายจังหวัดวิกฤตอย่างหนักและยังไม่ทีท่าจะคลี่คลายในเร็ววัน

จ.อุบลราชธานีเป็น 1 ในจังหวัดที่วิกฤตน้ำท่วมสูงในรอบ 44 ปี โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ระบุว่า มีสาเหตุเกิดจากฝนที่ตกหนักจากพายุทำให้ จ.อุบลราชธานีมีน้ำท่วมในพื้นที่มีปริมาณที่มาก การระบายที่ธรรมชาติมีอยู่จึงไม่เพียงพอ และรับมวลน้ำที่หลากลงมาจากจังหวัดต่างๆ ผ่านแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลตอนบน ซึ่งไหลมาบรรจบกันในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง

เมื่อปริมาณน้ำที่ไหลมารวมกันมีปริมาณมาก ฝนที่ตกหนักในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำมูลจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน ได้ไหลลงมาเติมในแม่น้ำมูลสายหลักทำให้อัตราการลดลงชะลอตัว ประกอบกับน้ำด้านท้ายตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมาจากอำเภอดอนมดแดง และอำเภอตระการพืชผล และมาจากลำโดมใหญ่ มวลน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอดอนมดแดง อำเภอนาเยีย ที่ระบายไหลลงสู่แม่น้ำมูล ทำให้น้ำมีระดับสูง และไปดันกับน้ำที่ระบายมาจากด้านบน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม “ตัวเมืองอุบลราชธานี”

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระบุอีกว่า ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำของลุ่มน้ำมูล กว่า 69,701 ตร.กม. แต่มีสภาพเป็น “คอขวด”

Advertisement

ปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำ กลายเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงปิดขวางทางน้ำ เนื่องจากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุกระจุกตัวและมีเส้นทางพายุหรือแนวฝนเฉพาะเขตอีสานตอนบน ทำให้ปริมาณฝนตกหนักติดต่อกันจนทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติ ไม่สามารถรับได้ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด ระบบระบายน้ำทั้งธรรมชาติและที่สร้างขึ้นไม่เพียงพอ การพัฒนาผังเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมือง การบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งระบบเตือนภัย การเตรียมการ สั่งการและการบูรณาการหน่วยงานในภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเป็นประเด็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดย รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาคอาจารย์สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ปีนี้ท่วมหนักกว่าเมื่อปี 2562 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากรอยต่อการบริหารจัดการน้ำช่วงเปลี่ยนผู้บริหารของจังหวัดที่หยุดชะงัก และการเตรียมการที่ชะล่าใจเกินไป

ด้าน นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 ซึ่งดูแลพื้นที่ปลายน้ำของ 3 ลุ่มน้ำ ทั้งแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวมีโครงการผันน้ำฝั่งขวาจากแม่น้ำมูลและผันน้ำจากแม่น้ำชี ก่อนที่ไหลมาถึงตัวจังหวัด จะช่วยตัดยอดน้ำ 2 ลุ่มน้ำ ได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาวจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่

Advertisement

ขณะที่ นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในเขตผังน้ำมูล เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนสู่การปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน อาทิ การประเมินระยะเวลาการเดินทางของน้ำตามลำน้ำเพื่อคาดการณ์และเตือนภัยระดับและปริมาณน้ำ การผันน้ำออกจากลำน้ำหลักไปยังลำน้ำข้างเคียง เมื่อปริมาณน้ำหลากมากกว่าความสามารถในการระบายน้ำด้านท้ายน้ำหลาก เมื่อน้ำเดินทางมาถึงแม่น้ำมูลสายหลัก รวมถึงการผันน้ำเข้าไปยังพื้นที่น้ำนองที่มีอยู่ 2 ฝั่งของลำน้ำมูลสายหลัก หรือก่อสร้างแนวผันน้ำเพิ่มเติมในบริเวณชุมชนที่สำคัญ บริเวณแม่น้ำมูลตอนล่าง เพื่อเพิ่มเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำ (แก้มลิงธรรมชาติ) เป็นพื้นที่น้ำนอง เพื่อบริหารจัดการร่วมกับเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำมูลได้

ขณะที่ นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำท่วมสูงกว่า ปี 2562 ที่น้ำท่วมใหญ่ของ จ.อุบลราชธานี คาดว่ามูลค่าความเสียหายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการเสียโอกาสทางด้านการค้าขาย ส่งออก และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา คาดว่าน้ำจะยังคงท่วมสูงอยู่อีกประมาณ 45 วัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จ.อุบลราชธานีแทบจะกลายเป็นเกาะแล้ว ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ จ.อุบลราชธานีเป็นอย่างมาก

ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางกายภาพและจิตใจ ด้านที่พักพิง และด้านการอพยพออกจากพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ เสียหายทั้งโรงงาน ร้านค้าพืชผลทางการเกษตร และพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงกระทบต่อภาวะการจ้างงานของครัวเรือน โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้น้อย เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของการมีงานทำ ได้รับการชดเชยความเสียหายที่ไม่เพียงพอ และไม่มีความสามารถในการฟื้นฟูอย่างเต็มที่

สำหรับกลุ่มจิตอาสาคนอุบลไม่ทิ้งกัน นำโดย นายวิศรุต สวัสดิ์วร อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ได้เตรียมยื่นหนังสือเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลการจัดการน้ำส่วนหน้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการบริหารงานที่มิอาจเลี่ยงความรับผิดชอบได้ จึงขอเสนอรัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการ ประกอบด้วย เร่งชดเชยผู้ที่ประสบอุทกภัยก่อนน้ำลด เพราะประชาชนที่อยู่ในศูนย์อพยพอาจต้องอยู่อีกหลายวัน มีค่าใช้จ่ายมากมาย กิน อยู่ ย้าย คนละ 3,000 บาท (คนละ 100 บาท/วัน), เร่งแก้ไขปัญหา จัดการดูแล อาหาร น้ำดื่ม ห้องน้ำ ห้องน้ำผู้พิการ สุขอนามัย ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โปร่งใส ตรวจสอบได้

อีกทั้งวางแผนการสร้างศูนย์อพยพที่ได้มาตรฐานในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในระยะยาว, กระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบการจัดการน้ำในไร่นา ในพื้นที่ชุมชน และในลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ของลุ่มน้ำให้เต็มศักยภาพ รวมถึงการจัดการแก้ไขปัญหาผังเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แทนที่จะทำแต่โครงการขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ในพื้นที่จำกัด สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทิ้งศักยภาพและปัญหามากมายของลุ่มน้ำไว้

“ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับการเตือนภัยมากขึ้น ความคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดใน จ.อุบลราชธานี ทำให้การเตรียมความพร้อมของพี่น้องประชาชนใน จ.อุบลราชธานี อยู่ในภาวะสับสน และฉุกละหุกเป็นอย่างมาก พื้นที่ศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพที่ถูกน้ำท่วมซ้ำ และจำต้องย้ายไปหาพื้นที่ตั้งแห่งใหม่ พี่น้องชาวอุบลราชธานีจำนวนไม่น้อย ต้องพายเรือกลับเข้าไปขนข้าวของให้พ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม และแก้ไขปัญหา” นายวิศรุตระบุ และว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้านการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วม โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐจำนวนมาก ไมสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากทิ้งรอยบาดแผลไว้จากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image