ผู้ว่าฯตราด เผยนายทุนจีน สวมบัตร ปชช.คนตายตั้งแต่ปี’35 ระบบเก่าทำง่าย แต่ระบบใหม่ยาก

ผู้ว่าฯตราด เผยนายทุนจีน สวมบัตร ปชช.คนตายตั้งแต่ปี’35 ระบบเก่าทำง่าย แต่ระบบใหม่ยาก

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน จากกรณีที่ พล.ต.ต.ธีระชัย ชํานาญหมอ ผบก.สส.ภาค 2 พร้อมด้วยหน่วยคอมมานโด บูรพา 491 ถือหมายจับ 487/2565 ข้อกล่าวหาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในประวัติทะเบียนราษฎรอันเป็นเอกสารราชการ (บัตรประชาชนปลอม) เข้าทำการจับกุม นายนิติพัฒน์ โชคชัยธนพร หรือกู๋เอี๋ยว อายุ 45 ปี เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติจีน ถือบัตรประชาชนไทย ที่ออกโดยอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายชำนาญวิทย์ เตรันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว จากการตรวจสอบข้อเท็จ เบื้องต้นพบว่า นายนิติพัฒน์มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนจริง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 หรือเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ใช้ชื่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยที่พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตไม่รู้เรื่อง เบื้องต้นพบการออกบัตรประชาชน สำนักงานเทศบาลเมืองตราด เป็นหน่วยงานที่ออกบัตรประชาชนประจำตัวให้

ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดยังกล่าวต่อว่า ในเรื่องการตรวจสอบหาตัวเจ้าพนักงานที่ออกบัตรนั้น จะต้องดูว่าผู้ออกบัตรยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะระยะเวลาผ่านมา 30 ปี และยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ออกบัตรให้ การออกบัตรประชาชนนั้น ปัจจุบันทุกอำเภอมีความเข้มงวด มีระเบียบอย่างชัดเจนในการออกบัตรประจำตัวประชาชน

ด้านนายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอเมืองตราด เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเรื่องนี้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมที่ติดตามคดีนี้ หลังพบว่ามีการสวมสิทธิบัตรผู้ตาย โดยที่ผู้สวมสิทธิได้มาแจ้งเกิดที่คลินิกแพทย์แห่งหนึ่งใน  จ.ตราด แล้วมาแจ้งทำบัตรประชาชนที่สำนักทะเบียน เทศบาลเมืองตราด และมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ซึ่งได้แจ้งว่า มีพ่อเป็นชาวจีน และตัวเองมีสัญชาติจีน แม่เป็นชาวนครราชสีมา แต่วันนี้ผู้สวมสิทธิทำธุรกิจอยู่ที่อำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งหากติดตามและตรวจสอบจะพบความพิรุธ เพราะหลักฐานไม่เชื่อมโยงกัน แต่มีลักษณะกระโดด โดยได้ตั้งข้อสังเกตให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมไป พร้อมแนะนำว่า ควรจะเรียกพ่อ แม่มาสอบปากคำ แต่เมื่อพ่อตายแล้ว เหลือแม่ก็เรียกมาสอบปากคำก็ได้ ซึ่งน่าจะได้พยานที่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งตัวบุคคลและทางดีเอ็นเอ

Advertisement

“เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ในยุคของนายสมพร บุญเสริม เป็นนายอำเภอ ซึ่งกว่า 30 ปีแล้ว โดยยุคนั้นการทำบัตรประชาชนต้องทำอายุ 15 ปี และทำด้วยการเขียนด้วยลายมือ ซึ่งมีการทุจริตง่าย คนที่ทำทุจริตหากอายุมากๆ ก็น่าจะอายุเกิน 70-80 ปีแล้ว หรือน่าจะเสียชีวิตไปแล้วหากอายุไม่ยืน ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมตลอดและแนะนำการตรวจสอบ สำหรับหลักฐานการทำนั้นที่อำเภอเมืองตราดไม่มี แต่น่าจะอยู่ที่เทศบาลเมืองตราด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการทุจริตทำบัตรประชาชนทำได้ยากมากขึ้น เพราะวันนี้ใช้ระบบออนไลน์ในการประสานข้อมูลกันแล้ว” นายอำเภอเมืองกล่าว

จากกรณีนี้ ในพื้นที่จังหวัดตราดมีการทุจริตทำบัตรประชาชนสวมสิทธิมาหลายครั้งทั้งในอำเภอเมืองตราดและอำเภอบ่อไร่ ซึ่งมีปลัดอำเภอและอดีตนายอำเภอบ่อไร่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทะเบียนต้องถูกดำเนินคดีและถูกไล่ออกมาหลายคนแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image