เลย ชวนลอยกระทงกะลา ที่เดียวในไทย ก่อนลอยต้องผ่านพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดเลยผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนงานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และวิถีชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดเลย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมกันจัดงานประเพณี ลอยกระทงกะลาลอยเคราะห์ใส่ผ้าไทย ณ ที่วัดสามัคคีธรรม บ้านห้วยทรายคำ หมู่ 6 ตำบลนาแขม อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
การลอยกระทงกระลา เป็นที่เดียวของประเทศไทย โดยก่อนนำกระทงกะลา ไปลอยต้องผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ก่อนนำกระทงกะลาไปลอยลงแม่น้ำ
นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การจัดงานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ ที่วัดสามัคคีธรรม บ้านห้วยทรายคำ ได้มีจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ปีนี้เป็นปีที่ 9 จุดเริ่มต้นของกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ คือ “ความเสียดาย” จากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น กะลามะพร้าว และเศษผึ้งเศษเทียน ที่ญาติโยมนำมาใช้ในงานกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด ชาวบ้านพร้อมกับวัดจึงมีแนวคิด “ทำกระทงกะลาลอยเคราะห์” โดยนำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็น “กระทง” เศษผึ้งเศษเทียน มาประดิษฐ์เป็น “กลีบดอกบัว” วางกึ่งกระทงกะลา และนำเศษผ้าฟั่นเป็นไส้เทียน แล้วนำกระทงกะลาที่สมบูรณ์แล้วไปนำเข้าในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ก่อนนำกระทงกะลาไปลอย
ทั้งนี้ กระทงกะลา 1 อัน แทนอายุ 12 ปี ซึ่งปีแรกๆ ทำ “กลีบดอกบัว” สีเหลืองอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้ทำ “กลีบกระทง” ให้ครบ 7 สี (สีประจำวันเกิด) ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ ซึ่งวัดได้ส่งเสริมแนวคิดให้คนในชุมชน เรื่องหลัก 3R การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ ด้วยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ผ่านการจัดงานประเพณีลอยกระทงกะลาเทียนลอยเคราะห์ เป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เยาวชน และผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์