บพท.แถลงความสำเร็จ การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ คือคำตอบลดความเหลื่อมล้ำ

บพท.แถลงความสำเร็จ การใช้งานวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาเมือง โดยเมืองแห่งการเรียนรู้คือคำตอบการพัฒนาเมืองที่แท้จริง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนา เป้าหมายคือเมืองแห่งความสุขและทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ได้มีงานแถลงข่าว “เส้นทางความสำเร็จของเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม” และเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ เมืองแห่งการเรียนรู้ จัดโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า โครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้หรือ Learning City เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง และเป็นฐานในการวางแผนพัฒนา เพราะเมืองไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง แต่เมืองต้องมีกลไกในการพัฒนา เป้าหมายคือสร้างนิเวศเมืองให้น่าอยู่ โดยคนในท้องถิ่นต้องร่วมมือกัน ผลักดันให้เป็นวาระสำคัญของเมืองและท้องถิ่นนั้น

“ในแต่ละเมืองมีการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่กำลังถูกตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะที่ผ่านอาจจะไม่ได้ เปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการเรียนรู้ให้กับคนทุกกลุ่ม ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ แต่เมืองแห่งการเรียนรู้ Learning City จะเข้าไปพัฒนากลไกการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชน 9 กลุ่ม ทั้งคนอายุน้อย อายุกลาง และอายุมาก เงินน้อย เงินปานกลาง และเงินมาก คนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ไหม คนรวยอาจจะยากจน คนจนอาจจะรวยบ้าง การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องเข้าถึงทุกกลุ่มอย่างแท้จริง นั่นคือเป้าหมายของการเรียนรู้ของเมืองอย่างแท้จริง ท้องถิ่นต้องเป็นคนออกแบบการเรียนรู้ของเมือง​ เพราะปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาคือท้องถิ่น​ การประสานความร่วมมือและข้อมูลที่ได้นำมาสู่การวางแผนพัฒนาร่วมกัน”รศ.ดร.ปุ่น กล่าว

ด้าน ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวหน้าโครงการวิจัย ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Learning City) กล่าวว่า ลำปางจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเมือง โดยใช้ความรู้ของท้องถิ่นมาต่อยอดและไม่ได้นำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจพัฒนาเมือง ทำให้การพัฒนาเมืองไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงเริ่มต้นจากการทำงานวิจัยโลคอลสตาร์ตดี้ ( Local study) และพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากทุนทางวัฒนธรรม โดยจัดทำข้อมูล 5 ภูมิ คือ ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิวงศ์ ภูมิธรรมและภูมิปัญญา ภูมิวงศ์คือเรามีเจ้าเมือง เราเก็บข้อมูลมาเล่า มาพัฒนาเมือง นำมาพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ มีกลุ่มคนเมืองที่มีบทบาทมาช่วยกันขับเคลื่อนเมือง

Advertisement

“ที่ผ่านมาทุกคนทำงานพัฒนาเมืองอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าใครทำอะไร แต่พอได้มาทำตรงนี้ทำให้เห็นภาพแต่ละคน ได้มาโชว์ผลงานร่วมกัน เวลามองหาหรือนึกถึงอะไรก็จะรู้ว่าใครทำก็จะสามารถเชื่อมต่อกันไปได้หมด การพัฒนาจึงเชื่อมกันเป็นภาคีเครือข่าย และเกิดพลังมาก ส่วนที่มีผลผลิตออกมาเป็นผ้าฝ้ายย้อมครั่งและมีเป้าทำให้เมืองลำปางเป็นเมืองครั่งเนื่องจากในอดีตลำปางเคยมีรายได้จากการส่งออกครั่งเป็นพันล้าน แต่ทุกวันนี้หายไปเพราะอากาศเปลี่ยนแปลง พอมาจัดเลินนิ่งซิตี้ทำให้คนลำปางได้กลับมารื้อฟื้นภูมิปัญญา พัฒนาผลิตภัณฑ์ จนนำไปสู่การจำหน่าย จากคุณค่ามาเพิ่มเป็นมูลค่าเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เห็นให้ชัดที่สุด”ดร.ขวัญนภา กล่าว


ในขณะที่ น.ส.โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการและรักษาการหัวหน้าทีมการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต แผนกนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาทักษะ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ สำนักงานเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า การส่งเสริมเมืองแห่งเรียนรู้ของยูเนสโกเพื่อเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กับคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่การเข้าถึงการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลที่อาจจะเข้าถึงยากการเรียนรู้ที่ถดถอย และยังมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เด็กเยาวชนหลุดจากการเรียนรู้เป็นจำนวนมาก 40 เปอร์เซ็นต์ กลไกเมืองแห่งการเรียนรู้จะช่วยเข้าไปกระตุ้นให้เด็กกลับสู่การเรียนรู้ได้มากขึ้น อุดช่องว่าง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยมี 3 เมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้คือ สุโขทัย หาดใหญ่และพะเยา ในขณะที่ทั่วโลกมีมากถึง 200 เมืองจาก 70 ประเทศทั่วโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image