กมธ.ศาสนา ถอย ‘วัดภูพระบาท’ ขอออกโฉนด 2.5 พันไร่ โยน คกก.พิสูจน์สิทธิที่ดินฟัน

กมธ.ศาสนา ฟังข้อเท็จจริงสำนักพุทธอุดรฯ ขอออกโฉนดวัดพระพุทธบาทบัวบก 2,500 ไร่ อ้างประวัติวัด-ใบเสมามีพื้นที่ 2,500 ไร่มามากกว่า 900 ปี ทื่ดินกำลังเข้ารังวัดทำแผนที่ ถูกคัดค้านโดยกรมป่าไม้-กรมอุทยาน-อุทยานภูพระบาท ที่สุดโยนให้กรรมการพิสูจน์สิทธิฟัน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธาน กมธ.ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานฯ พร้อมนำ กมธ.ร่วมประชุมติดตามการขอออกโฉนดที่ดิน ให้กับวัดพระพุทธบาทบำบก ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยมี นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม กับคณะสงฆ์ของ จ.อุดรธานี

นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธาน กมธ.ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจึงมาตามเรื่อง หน่วยงานที่เชิญไว้มากันหรือไม่ เมื่อวานลงพื้นที่พบว่ามีวัด ป่าไม้ อุทยาน จึงต้องสอบถามทุกฝ่าย เบื้องต้นก็รับรู้มาบ้างแล้ว เหลือเพียงเรื่องเอกสาร จะเอายังไงกัน จะเดินไปยังไงกัน อยากจะให้เสร็จสิ้นใน 1-2 ครั้ง ไม่ต้องเดินทางมาติดตามกันหลายครั้ง

ว่าที่ ร.ต.จุลสัน ทันอินทร์อาจ ผอ.สนง.พระพุทธศาสนา อุดรธานี กล่าวว่า ในการตรวจสอบวัดในพื้นที่พบว่า “วัดพระพุทธบาทบัวบก” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย มีประวัติความเป็นมา แต่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน จึงลงพื้นที่ก็พบมีพยานวัตถุ ร่องรอยพระพุทธบาท ใบเสมา และอื่นๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า มีความเป็นวัดมาตั้งแต่ 900 ปีก่อน ซึ่งถูกนำมาขึ้นเป็นวัดตามกฎหมาย พ.ศ.2460 โดยมีที่ดินเป็นที่ตั้ง 2,500 ไร่ เมื่อ 29 เม.ย.2565 สนง.พระพุทธศาสนาอุดรธานี ได้ยื่นเอกสารต่อ สนง.ที่ดิน จ.อุดรธานี สาขา อ.บ้านผือ เพื่อขอออกโฉนดที่ดินให้เป็นวัดที่สมบูรณ์

Advertisement

นายสัญญา ปัดถาวโร ที่ดิน จ.อุดรธานี สาขา อ.บ้านผือ ชี้แจงว่า นัดหมายเข้ารังวัดตามคำร้อง 17 ส.ค.65 เมื่อเข้ารังวัดพบปัญหาพื้นที่เป็นรภูเขา มีสภาพป่าไม้ ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอให้ทำการเคลียร์พื้นที่ก่อน แล้วนัดรังวัดอีกครั้ง 12-13 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการนี้ทาง สนง.ทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 , อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท, และ สนง.พื้นที่อนุรักษ์ 10 ได้คัดค้านการออกโฉนดพื้นที่ 2,500 ไร่นี้

“พื้นที่จะออกโฉนดอยู่ในเขต ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ พ.ศ.2518 และกรมศิลปากร เข้าใช้พื้นที่โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ.2534 เนื้อที่ 3,430 ไร่ และอยู่ระหว่างที่กรมอุทยานจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในขั้นอุทยานแห่งชาติเตรียมการ ซึ่งการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของรัฐ มีขั้นตอนในการดำเนินการตามประกาศ ซึ่ง สนง.ที่ดินฯกำลังทำการรังวัด RPK เพื่อจัดทำแผนที่ตามที่ชี้แนว อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 2,500 ไร่”

นายทรัพย์สิน จงมี ผู้แทน ผอ.สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 อุดรธานี ชี้แจงยืนยันว่า ได้มีการคัดค้านการรังวัดตั้งแต่แรก เพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.พ.ศ.2509 ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ และภาพถ่ายทางอากาศก็ยังเป็นป่าสมบูรณ์ ต่อเนื่องตลอดมาไม่มีการใช้ประโยชน์ การที่ สนง.พระพุทธศาสนาฯ นำเอาประวัติวัดมาขอออกโฉนด จะเปิดปัญหาในการปฏิบัติงานในอนาคต จนนำไปสู่ข้อขัดแย้งในการรังวัด ในการเข้าไปแพ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อปักหมุด มีการร้องเรียนไปยังกรมป่าไม้

Advertisement

นายนพดล นิกรแสน ที่ดิน จ.อุดรธานี ชี้แจงพร้อมตอบซักถามว่า การขอออกโฉนดที่ดินวัดพระพุทธบาทบัวบก ได้ใช้หลักฐานประวัติวัดว่าตั้งขึ้น พ.ศ.2460 ที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปรังวัด และสอบสวนสิทธิพบว่า พื้นที่ขอออกโฉนดอยู่ในเขตป่าสงวนฯ จะต้องดำเนินการในรูปคณะกรรมการฯ เพื่อนำความเห็นเสนอต่อผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ว่าวัดอยู่ก่อนหรือหลังประกาศเขตป่าสงวนฯ และถ้าอยู่ก่อนจะออกได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องเข้าขั้นตอนการแปลภาพถ่ายทางอากาศ จากหลักฐานการเข้าทำประโยชน์

นายวิมล สุรเสน นายอำเภอบ้านผือ กล่าวว่า พื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีหลายหน่วยงานใช้พื้นที่อยู่ การที่วัดฯ ขอออกโฉนดที่ดิน 2,500 ไร่ ก็จะกินพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และกรมศิลปากร อยากจะให้ทุกฝ่ายคุยกันให้เข้าใจอีกครั้ง เพื่อให้เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ลักษณะนี้ โดยในฐานะนายอำเภอ พร้อมเป็นคนกลางในการพูดคุยกัน

นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธาน กมธ.ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวสรุปว่า ทุกฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง เพื่อไม่ต้องมาถกเถียงกัน ขอให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิถือครองที่ดิน ตามขั้นตอนของระดับต่างๆ ขอให้ที่ดินเร่งรัดขั้นตอน เมื่อจบแล้ววัดอาจจะได้ 1 ไร่ หรือได้มากกว่า 2,500 ไร่ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ คงจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image