อบต.ราชาเทวะ ทำประชาคม ลุยซื้อกล้องวงจรปิด-เสาไฟกินรีล็อตใหม่ ยังไร้ข้อสรุป

ภาพโดย ประชาสัมพันธ์ อบต.ราชาเทวะ

อบต.ราชาเทวะ ลุยทำประชาคม เตรียมจัดซื้อเสาไฟกินรีล็อตใหม่ ไม่อนุญาตสื่อเข้าฟังและบันทึกภาพ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมชั้น 4 ที่ทำการ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีการทำประชาคมเพื่อเตรียมจัดซื้อกล้องวงจรปิด กล้องฉุกเฉิน และเสาไฟส่องสว่างกินรีแบบโซลาร์เซลล์ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่ง แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปการทำประชาคมได้

ชาวบ้านระบุว่า นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ และไม่อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกภาพในห้องประชุม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการประชุมภายใน
การจัดประชาคมมีแผนจะจัดซื้อเสาไฟกินรีล็อตใหม่ล่าสุดอีก 727 ต้น วงเงิน 69 ล้านบาท ในปีหน้า (พ.ศ.2566) หลังเพิ่งจัดซื้อล็อตใหญ่ 720 ต้น วงเงินงบประมาณ 67,967,000 บาท ไปเมื่อกลางปีนี้ รวมทั้งยังมีแผนจัดซื้อกล้องวงจรปิด 360 ตัว วงเงินรวม 54 ล้านบาท

น.ส.แพรวมาศ พรหมดวง สมาชิกหมู่ 4 อบต.ราชาเทวะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการแจ้งการทำประชาคม 3 เรื่อง คือกล้องวงจรปิด กล้องฉุกเฉิน และเสาไฟกินรี ให้ประชาชนเสนอเรื่องสาธารณูปโภคที่ต้องการเข้าที่ประชุมโดยไม่ทราบสาเหตุการไม่ลงมติที่แน่ชัด แต่วันนี้นายธงชัยไม่ได้เข้าร่วมประชุม ให้รองนายก อบต.ราชาเทวะ เป็นประธานที่ประชุมแทน

Advertisement

น.ส.แพรวมาศกล่าวว่า สำหรับการประชุมที่เตรียมทำประชาคมนี้ อยากให้ อบต.นำงบประมาณไปใช้ในส่วนที่จำเป็นกว่า โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 4 ที่รับผิดชอบอยู่ ยังขาดเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอีกจำนวนมาก เรื่องเสาไฟกินรีที่ให้แสงสว่างนั้นเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่อยากให้ดูเรื่องพื้นที่ติดตั้งว่าทับซ้อนเกินความจำเป็นหรือไม่ อยากให้มองเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.ภาค 1 เพิ่งแถลงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีการไต่สวนแยกตามปีงบประมาณที่จัดซื้อออกเป็น 5 สำนวน แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 2 สำนวน กับผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 40 คน ส่วนอีก 3 สำนวนอยู่ระหว่างแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะเร่งสรุปสำนวนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่โดยเร็วต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

สำหรับโครงการจัดซื้อเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะ ถูกร้องเรียนกล่าวหามาตั้งแต่กลางปี 2564 จน ป.ป.ช.ต้องเข้ามาตรวจสอบ โดยดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อระหว่างปีงบประมาณ 2556-2564 รวมวงเงินกว่า 871 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2556 วงเงิน 64.7 ล้านบาท, ปี 2557 วงเงิน 2.5 ล้านบาท, ปี 2561 วงเงิน 27.6 ล้านบาท, ปี 2562 วงเงิน 171.8 ล้านบาท, ปี 2563 วงเงินรวม 215.7 ล้านบาท และปี 2564 วงเงิน 388.5 ล้านบาท

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image