ม็อบลุ่มน้ำชีกว่า 500 ราย บุกศาลากลาง จี้ถามคืบหน้าปัญหาสร้างเขื่อน (คลิป)

ม็อบลุ่มน้ำชีกว่า 500 ราย บุกศาลากลาง จี้ถามคืบหน้าปัญหาสร้างเขื่อน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสวนสาธารณะบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ เขตเทศบาลเมืองยโสธร เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี (คคช.) จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร กว่า 500 คน ต่างถือป้ายและธงสีเขียวร่วมเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดยโสธร ด้วยระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าจากคณะทำงานจัดทำข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร ในการแปลภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ได้รับผลกระทบจะแล้วเสร็จเมื่อใด และจะสามารถกำหนดวันประชุมคณะทำงานในการรับรองพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนของ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ได้เมื่อไหร่

นายจันทรา จันทาทอง คณะกรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า วันนี้กลุ่มพี่น้องลุ่มน้ำชี 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้มีมติเห็นชอบร่วมกันว่าเขื่อนเป็นปัญหาหลัก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำชีที่ยาวนานผิดปกติ ดังนั้น กลุ่มได้มีการเรียกร้องไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนมีการคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ที่ 3146/2565 ลงวันที่ 7 กันยายน 2565 ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ปี 2543-2547 จากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด

ตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการเขื่อนธาตุน้อย ที่ 2/2563 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จ.ยโสธร เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร และโครงการเขื่อนธาตุน้อย ไว้แล้วนั้น และตามที่มติคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ปี 2543-2547 จากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร และโครงการเขื่อนธาตุน้อย ได้ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมหมอนขิด ชั้น 2 ศาลากลางยโสธร เพื่อเป็นการวางกรอบแนวทางและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ตลอดจนเพื่อรับทราบและติดตามผลการดำเนินงานนั้น

Advertisement

มติที่ประชุม 1.ส่งมอบข้อมูลให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำไปตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (1-31 ตุลาคม 2565) 2.ประชุมคณะทำงาน รายงานผลการดำเนินงานและสรุปผลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี 2543-2547) (1-30 พฤศจิกายน) 3.ประกาศรายชื่อและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หากไม่เห็นด้วยให้อุทธรณ์ภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ประกาศ (15-30 พฤศจิกายน 2565) 4.รายงานผลการดำเนินงาน สรุปผลการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร (1-15 ธันวาคม 2565) 5.มอบฝ่ายเลขาฯกำหนดกรอบ วิธี แนวทางดำเนินการในกรณีที่เอกสารสิทธิไม่ใช่โฉนดที่ดินตามที่มติคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี 2543-2547) จากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร และโครงการเขื่อนธาตุน้อย

Advertisement

ได้ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมติที่ประชุม 1.ได้มอบหมายให้ตัวแทนคณะทำงาน จำนวน 4 ท่าน ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการแปลงข้อมูลภาพถ่าย 2.ลดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน และส่งมอบข้อมูลดิจิทัลไฟล์นำไปตรวจสอบจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเดิม (1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2565) รวม 60 วัน เป็น (1 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2565) รวม 45 วัน 3.เห็นชอบกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานของคณะทำงานจัดทำข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (ปี 2543-2547) จากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร

ดังนั้น เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จึงเดินขบวนเพื่อทวงสัญญาว่ากรอบระยะเวลาของกระบวนการแปลภาพถ่ายพื้นที่ได้รับผลกระทบจะแล้วเสร็จวันไหน และจะสามารถกำหนดวันประชุมคณะทำงานในการรับรองพื้นที่ของ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ได้วันไหนเพราะชาวบ้านที่มาในวันนี้ได้รับความเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้เตรียมเครื่องครัวและเครื่องนอนมาปักหลักนอนรอคำตอบจากคณะทำงานว่าจะมีคำตอบอย่างไรให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มายื่นเรื่องในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 14.00 น. จะมีคณะทำงานมาพบปะกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image