มะกัน ห่วง ’หมอกควันเหนือ’ ส่งผู้เชี่ยวชาญคุณภาพอากาศ แนะคุยเพื่อนบ้านวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาร่วมกัน

มะกัน ห่วง ’หมอกควันเหนือ’ ส่งผู้เชี่ยวชาญคุณภาพอากาศ หารือสกัดไฟป่าปะทุ แนะคุยเพื่อนบ้านวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาร่วมกัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่ห้องธาราทองบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ โฮเทล เชียงใหม่ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาเชียงใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ ‘Sharing Thailand-U.S. Experiences: A Path to Cleaner Air and Healthier Communities’ โดยสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ และโครงการ Mekong for the Future ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) เพื่อนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วทั้งภาคเหนือ ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายด้านคุณภาพอากาศ และร่วมกันหาแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพอากาศในภูมิภาค ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้แทนเข้าหน่วยงานระดับจังหวัด เทศบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เป็นประธานเปิดการเสวนาว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำ เพราะเรื่องสภาพอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะส่งผลกระทบต่อลูกหลาน อนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะมีความซับซ้อน ทั้งด้านการเกษตร ป่าไม้ และกรอบการดูแลบริหารจัดการทรัพยากรข้ามชาติ สหรัฐอเมริกาให้งบประมาณสนับสนุนในการใช้เทคโนโลยีรับมือหมอกควัน อากาศ และสิ่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง USAID พยายามให้ความช่วยเหลือทุกด้านโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และทุกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางร่วมกัน ทั้งนโยบายภาครัฐของสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายในการพยายามหาคำตอบในการลดปัญหานี้ให้ได้

นายสเตฟาโน เซโนบิ ผู้แทน USAID กล่าวว่า เราเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาทั่วโลก ผ่านทีมงานที่เกี่ยวข้องของ USAID เอง ตัวผมเองก็มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจเพราะสภาพอากาศในเมืองที่ผมเคยอยู่ การใช้เทคโนโลยีในโรงงานที่มีโอกาสปล่อยมลพิษ ต้องมีการปรับปรุงเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา โดยต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจากความร่วมมือกันเพื่อความเปลี่ยนแปลง ทราบดีว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายแต่การวางแผนและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การแก้ไขปัญหานี้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

Advertisement

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือภาคเหนือมาตลอดในเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟไฟป่า ทั้งเครื่องบดอัดใบไม้ เครื่องฟอกอากาศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้สถิตการเกิดเผาไหม้ลดลง 70% และปริมาณจุดความร้อนลดลง 80% จังหวัดเชียงใหม่ได้รับโอกาสในเชิงบูรณาการมาตลอดจากกงสุลประเทศต่างๆ ทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณสนับสนุนกำลังคนเข้าไปดับไฟป่า

นายเอแวน บิง Ambient Air Monitoring Manger, Northwest Clean Air Agency ผู้เชี่ยวชาญคุณภาพอากาศจากสหรัฐอเมริกา กล่าวในหัวข้อ ‘กฎหมายออกอากาศสะอาดของสหรัฐอเมริกา และโอกาสของประเทศไทย’ ว่า โครงการให้ความช่วยเหลือนักวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหา จากข้อมูลทั่วโลกพบว่ามี 6.9 ล้านคนเสียชีวิตเพราะมลพิษ สูญเสีญทางเศรษฐกิจสูงถึง 225 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กระทบต่อเศรษฐกิจ อันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช เกิดไฟป่า มลพิษอุตสาหกรรม และหมอกควันข้ามพรมแดน และอื่นๆ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะก่อให้เกิดโรคหัวใจ หอบหืด จึงมีจำเป็นต้องลดมลพิษที่เกิดขึ้นให้ได้ ควรมีการกำหนดแผนและมีระยะเวลาที่ชัดเจน เพราะการแก้ไขมลพิษต้องใช้เวลานานกว่า 18-36 เดือน ก๊าซโอโซน 3-20 ปี ส่วนฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ใช้เวลากว่า 6-15 ปี

Advertisement

“ประเทศเพื่อนบ้านต้องมีการหารือกันร่วมกันระหว่างไทย เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะปัญหาอากาศข้ามพรมแดน ก๊าซที่เกิดจาการเผาจากภาคเกษตร การห้ามเผาต้องมีความชัดเจน เพราะมีการคาดการณ์ว่าฝุ่น PM2.5 จะสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่ต้องมีการร่วมมือกัน ทั้งการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศต่างๆ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ รวมทั้งความโปร่งใสของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกระบวนการกฎหมายของไทยดีอยู่แล้ว แต่ต้องมีคนเข้ามากำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพ กรณีที่ไทยต้องการให้มีการออก พรบ.อากาศสะอาด”

นายเอแวน บิง กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาทางตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการเผา รวมทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีการทำเกษตรเหมือนที่เป็นปัญหาในพื้นที่การเกษตรของไทย จึงต้องร่วมมือกับเกษตรกรว่าจุดไหนจะเผาได้และเผาไม่ได้ หรือช่วงเวลาใด โดยเฉพาะลักษณะภูมิกาศที่ไม่ดีก็ไม่สามารถเผาได้ และมีกฎหมายจัดการชัดเจนโดยเฉพาะโทษทางอาญา ส่วนไฟป่าก็เป็นวงรอบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ซ้ำ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียที่อาจจะทำลายทั้งชุมชน จึงต้องมีการจัดการที่ถูกต้องและมีกระบวนการ เนื่องจากบางพื้นที่ไฟป่าก็ไม่ได้เกิดทุกปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image