อธิบดีปค. ขับเคลื่อน อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข อ.แม่ใจ สร้างความยั่งยืนชุมชน

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกอำเภอนำร่อง ระดับจังหวัดที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นนายอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม เพื่อพิจารณากลั่นกรองอำเภอนำร่องจำนวน 10 อำเภอ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้แทนภาคีภาคศาสนา ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี และพระอาจารย์ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อ.คณิต ธนูธรรมเจริญ ผู้แทน ภาคประชาชน คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ หรือ Earth Safe คุณสร้อยฟ้า โอสุคนทิพย์ ผู้แทนภาคีภาคสื่อสารมวลชน และคณะฯ ได้เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ โครงการการบริหารจัดการน้ำ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ ที่หอประชุม 50 ปี โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา โดยมีนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายเทวา ปัญญาบุญ ปลัดจังหวัดพะเยา หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอใน จ.พะเยา ข้าราชการ โดยมีนายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ นำชาวอำเภอแม่ใจให้การต้อนรับ และกล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการฯ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการนำหลักการทำงานตามกลไก 3 5 7 ที่มีภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน และหลักการทำงานแบบสาธารณสงเคราะห์ หรือ หลัก “บวร บรม ครบ” ซึ่งมีเป้าหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและขจัดความยากจน รวมถึงการรองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้คัดเลือกอำเภอจาก 878 อำเภอให้เหลือ 76 อำเภอที่เป็นตัวแทนจังหวัด และคัดเลือกเหลือ 18 อำเภอซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มจังหวัด ซึ่งในรอบการตัดสินนี้มีอำเภอที่ได้รับการพิจารณาสุดท้าย จำนวน 10 อำเภอ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า โดยอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ได้เสนอโครงการที่เป็น Quick Win ของพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1) อ.วังเจ้า จ.ตาก เสนอโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า ในระบบ TPMAP และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนในระบบ ThaiQM อำเภอวังเจ้า เพื่อกันพัฒนาที่ยั่งยืน 2) อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เสนอโครงการลำห้วยพระคือ สายน้ำแห่งชีวิต ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน 3) อ.เทพา จ.สงขลา เสนอโครงการดาหลาบารูสู่ความเพียร อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา 4) อ.หันคา จ.ชัยนาท เสนอโครงการทำ “มัน” ให้มีรอยยิ้ม 5) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เสนอโครงการบ้านสร้างร่วมใจ รักษ์น้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศ เพื่อป้องกันภัยพิบัติและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 6) อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เสนอโครงการปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 7) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เสนอโครงการจาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา 8) อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เสนอโครงการรักษ์น้ำ (ใจ) สู่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพลิกชีวิตและความหวัง 9) อ.แม่ใจ จ.พะเยา เสนอโครงการการบริหารจัดการน้ำ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน และ 10) อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เสนอโครงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต คนโนนสะอาด ตามศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน

Advertisement

อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า อำเภอแม่ใจ ได้ดำเนินโครงการ การบริหารจัดการน้ำ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาอำเภอแม่ใจ ได้ขับเคลื่อนงานตามโครงการดังกล่าวทั้ง 5 กิจกรรม ประกอบไปด้วย กิจกรรม 70 พรรษา 70 ฝาย แม่ใจร้อยใจภักดิ์เทิดไท้องค์ราชัน (ซ่อมสร้างฝาย) กิจกรรม สร้างธรรมนูญแก่เหมือง แก่ฝาย สร้างเป้าหมายสู่ความยั่งยืน กิจกรรม คันนาทองคำ นำสู่ความยั่งยืน กิจกรรม 70 พรรษาเมล็ดพันธุ์ความดี 700 ครัวเรือนสุขี สู่วิถียั่งยืน (สร้างความมั่นคงทางอาหาร) กิจกรรม 70 พรรษา 700 ตันกล้าความดีวิถีพอเพียง โดยอำเภอแม่ใจได้มีประกาศอำเภอแม่ใจ เรื่อง แต่งตั้งคณะอำนวยการและคณะทำงานภายใต้โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โครงการ การบริหารจัดการน้ำ และสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน ปัจจุบันอำเภอแม่ใจ ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการบริหารจัดการน้ำอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (แก่เหมือง แก่ฝาย) เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งทางอำเภอแม่ใจและทีมงานภาคีเครือข่าย

นายแมนรัตน์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามโครงการอำเภอนำร่องฯ กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของ 7 ภาคีเครือข่าย อ.แม่ใจ เป็นทีมงานที่มีพลังต่อเนื่องเป็นต้นแบบของประเทศ ซึ่งถือเป็นต้นแบบอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่จะนำไปขยายผลการขับเคลื่อนทั้ง 878 อำเภอ ด้วยหลักคิดที่ว่า ในพื้นที่ต้องมีทีมงานหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายและเกิดความยั่งยืนด้วยการใช้ (Leadership) ในพื้นที่นำไปสู่การเป็น (Ownership) ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการปลูกพืชผักสวนครัว พิธีเปิดกิจกรรมวันดินโลกกับ จ.พะเยา ได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการวันดินโลก นิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก ชมนวัตกรรมการบริหารจัดการลิ้นจี่คุณภาพ ชมกิจกรรมเอามื้อสร้างฝายชะลอน้ำ ที่มีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอำเภอแม่ใจ ณ สวนลิ้นจี่ หมู่ 8 ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้โคก หนอง นา โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และชมผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา ที่พี่น้องผู้นำต้นแบบทั้ง 9 อำเภอ ของ จ.พะเยา มาจัดนิทรรศการ และจัดเลี้ยงมื้อกลางวัน รวมถึงการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทราย อ.แม่ใจ จ.พะเยา และโครงการพัฒนาท่องเที่ยงเชิงเกษตรนิเวศ หมู่บ้านควาย โครงการพัฒนาพื้นที่เป็นพุทธอุทยาน และการจัดการพื้นที่ทำกินโดยรอบ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมหลังการพัฒนางานก่อสร้างหนองเล็งทราย มีการออกแบบงานศิลปะสถาปัตยกรรมโดยศิลปินที่เป็นลูกหลานของคนพะเยา ที่หยิบยกเอางานพุทธศิลป์ที่มีอัตลักษณ์โดยรับการจาก อ.เจริญ มาบุตร ศิลปินจิตรกรรม มาเป็นผู้ช่วยในการออกแบบงานพุทธศิลป์ มาสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวแม่ใจ เป็นต้น

Advertisement

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ของ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Unity) และบรรยากาศความรักใคร่สามัคคี และความอบอุ่นที่เกิดจากการมีเป้าหมายเดียว คือ การพัฒนาอำเภอแม่ใจให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ นอกจากนี้ กิจกรรมที่เด็กนักเรียนโรงเรียนแม่ใจวิทยาคมได้จัดขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับ อ.แม่ใจ และชาว จ.พะเยา เนื่องจากว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ เขาได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต (Way of Life) การพึ่งตนเอง โดยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีแนวพระราชดำริเอาไว้ว่า ให้รู้จักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไข ความรู้คู่ คุณธรรม หรือที่เราเรียกว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน ที่สามารถลดรายจ่าย สร้างความอุดมสมบูรณ์ด้วยการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การทำน้ำยาล้างจานไว้ใช้ การทำถ่านไว้สำหรับประกอบอาหาร เมื่อไม่มีแก๊สหุงต้ม หรือ การปลูกผักสวนครัวไว้กินในครัวเรือนซึ่งปลอดสารพิษส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถต่อยอดสู่ขั้นก้าวหน้าโดยการรวมกลุ่มที่ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องที่ได้สร้างไว้สำหรับการเรียนรู้ในขั้นต่อ ๆ ไป เช่น ศูนย์เรียนรู้แปลงโคก หนอง นา หรือ ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยหนองเล็งทราย เป็นต้น ถือเป็นการ Change for Good ที่พัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ให้แก่ครัวเรือนได้อย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image