‘เกาะอาดัง’ ลุ้นดัง ยกระดับสู่เวิลด์คลาส

สกู๊ปปหน้า 1 : ‘เกาะอาดัง’ ลุ้นดัง ยกระดับสู่เวิลด์คลาส

กรณี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า ศอ.บต.เตรียมยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยว เกาะอาดัง จ.สตูล เป็น world class southern border, Thailand. The rivera of south east asia หลังจากพบว่าบรรยากาศการท่องเที่ยว จ.สตูล มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด จึงมีแนวคิดยกระดับและพัฒนาเกาะอาดังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเกาะที่มีศักยภาพสูงมาก เตรียมนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล

นายชนธัญกล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาจะต้องไปดูรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอาดังเป็นแบบเวิลด์คลาส (world class) หรือระดับโลก จะเป็นแบบ เวลเนส (wellness) หรือ แบบฮาลาล (halal) หรือเป็นแบบผสมผสานกัน เป็นเรื่องที่ประชาชนจะไปคุยกันต่อ แต่ทิศทางของการพัฒนาของเกาะอาดังต้องตอบโจทย์ 2 เรื่องคือ การพัฒนาที่ตรงความต้องการของประชาชน และส่วนที่ 2 คือใช้การพัฒนาไปช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เคยเสียไป หรือการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง ไร้ทางกำกับ อาดังจะเป็นตัวนำในเรื่องของการพัฒนา ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคืออาดังจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่เชื่อมโยงไปยังการท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ ของ จ.สตูล รวมทั้งให้พื้นที่การท่องเที่ยวต่างๆ ได้รับการพัฒนาโดยพร้อมกัน

“การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นแบบ สแตนด์อะโลน (stand alone) หรือ โดดเดี่ยว จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่เป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาะเภตรา ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จำเป็นจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะท่าเรือ ถนน หรือว่าหลักโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา เป็นการพัฒนาสตูลทั้งระบบให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวในทุกคนทุกช่วงวัย” นายชนธัญกล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายสุไลมาน อาดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.สตูล เปิดเผยว่า ได้ประสานงานกับทีมงานเครือข่ายของภาคประชาสังคมเห็นด้วยในการยกระดับ และการพัฒนาพื้นที่เกาะอาดัง การเชื่อมโยงของภาคประชาสังคม การทำงานร่วมกัน ระหว่างภาคประชาสังคมในจังหวัดและระหว่างประเทศ คือมาเลเซียและอินโดนีเซีย จุดยุทธศาสตร์สำคัญคือต้องคำนึงถึงภาคชายฝั่งและภาคทางทะเล

เป็นการดำเนินการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมค่อนข้างน้อยมาก บุคคลที่เป็นบุคคลในพื้นที่ จ.สตูล ไม่ค่อยได้มีโอกาสนำเสนอบทบาทการทำงานร่วมพัฒนาเชิงพื้นที่ ทำให้เสียโอกาส เพื่อดำเนินการการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับเวิลด์คลาส แต่สิ่งสำคัญจะต้องดำเนินการให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว หรือมิติของการดำรงอัตลักษณ์วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวในระดับของชุมชนให้คงอยู่ในพื้นที่ จ.สตูล

Advertisement

ส่วนเสียงสะท้อนจากภาคการท่องเที่ยว จ.สตูล โดย เจตกร หวันสู ประธานสภาการท่องเที่ยว อบจ.สตูล เปิดเผยว่า เพิ่งทราบข่าวไม่นานว่า ศอ.บต.เตรียมยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอาดัง จ.สตูล เป็น world class southern border, Thailand. The rivera of south east asia ส่วนตัวยอมรับว่าตกใจและดีใจเพราะไม่คาดคิดมาก่อน เป็นเรื่องดี เพราะสินค้าของ จ.สตูล จัดเป็นสินค้าระดับเวิลด์คลาส ไม่ว่าจะเป็นทางบก หรือทางทะเล เรามีอุทยานธรณีโลก และมีแหล่งท่องเที่ยว กรีน แอทแทร็กชั่น (Green Attraction) หลายแห่ง แต่ติดปัญหาการบริหารจัดการ

เจตกรกล่าวว่า คนสตูลจะต้องทำหลังจากนี้คือการเปลี่ยนทัศนคติ ต้องมององค์รวมทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาทำตลาดล่าง หากมีการยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นเวิลด์คลาสต้องวางแผนเป้าหมายมองไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในด้านการเดินทาง ความปลอดภัย คนมีหน้าที่รับผิดชอบ เกาะอาดัง จ.สตูล มีความเหมาะสม 100 เปอร์เซ็นต์ จะเป็น world class southern border, Thailand. The rivera of south east asia วันที่ 27 ก.พ.นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล ต้องฟังแผนการดำเนินงาน และเตรียมพร้อมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้าน จักรกริช ติงหวัง ประธานเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT สตูล เปิดเผยว่า เห็นด้วยจะยกระดับการท่องเที่ยว จ.สตูล ให้เป็นเวิลด์คลาส นิยามและวิธีการต้องทำอย่างไร ในฐานะทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนมองว่าสิ่งที่ชุมชนจะได้คือทางอ้อมเท่านั้น เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดดเด่นในระดับหนึ่ง ยังขาดการนำเสนอ ความเข้มแข็งของชุมชนยังไม่ว้าว มีพื้นที่หลักๆ เขาคลอง ทะเลชายฝั่งหลายชุมชนทั้ง อ.ทุ่งหว้า มีถ้ำภูผาเพชร น้ำตกวังสายทอง ฤดูกาลผลไม้มีผลไม้จีไอ ต้องดูกระบวนการและวิธีการหลังจากยกระดับแล้วว่าใครจะได้ประโยชน์จากการยกระดับในครั้งนี้ กี่ชุมชน กี่คนที่ได้ หรือว่ากลุ่มอาชีพไหนจะได้ประโยชน์จากการยกระดับในครั้งนี้ หรือยกระดับแค่ชื่อ ทางชุมชนเองก็อยากได้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของเรา หน่วยงานหลักๆ ก็สำคัญว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร กระดุมเม็ดแรกของการยกระดับไม่ใช่แค่ชื่อ หมายถึงวิธีการ จุดเริ่มต้นแบบไหน ท่องเที่ยวโดยชุมชนเองก็พร้อมจะยกระดับการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ไปพร้อมกันด้วย

สำหรับ “เกาะอาดัง” เป็นเกาะกลางทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเกาะตะรุเตา เป็นส่วนหนึ่งในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หรืออุทยานแห่งชาติตะรุเตา อยู่ใกล้กับเกาะหลีเป๊ะ หรือเกาะลีเป๊ะ มีความยาว 6 กิโลเมตร กว้าง 5 กิโลเมตร จุดสูงสุดของเกาะคือ 690 เมตร สภาพของเกาะอาดังมีความสงบ สะอาด เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา บนเกาะมีที่พักของเอกชนให้บริการ 1 ราย มีบ้านพักของหน่วยพิทักษ์อุทยาน และจุดให้กางเต็นท์ ผู้จะมาท่องเที่ยวจึงมักจะไปพักค้างแรมบนเกาะหลีเป๊ะที่อยู่ใกล้กันมากกว่า

นอกจากนี้ มีน้ำตกอย่างน้อย 2 แห่งบนเกาะ ทางทิศตะวันออกของเกาะเป็นหาดทรายขาว ยาวราว 200 เมตร ในน้ำเต็มไปด้วยปะการังโขดและปะการังชนิดอื่นๆ รวมถึงสัตว์ทะเลต่างๆ เช่น ดาวทะเล, เม่นทะเล, ปลาสลิดหิน, ปลาขี้ตังเบ็ด, ปลานกแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image