‘นครชัยบุรินทร์’ ป่วยไข้หูดับแล้ว 4 ราย จากปี 65 เจอ 115 ราย เหตุกินหมูดิบ สัมผัสเลือดหมูที่มีเชื้อ

“นครชัยบุรินทร์” ป่วยไข้หูดับแล้ว 4 ราย จากปี 65 เจอ 115 ราย เหตุกินหมูดิบ สัมผัสเลือดหมูที่มีเชื้อ หวั่นป่วยมากขึ้น

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า ในประเทศไทย ในปี 2565 มีผู้ป่วยโรคหูดับมากถึง 386 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน อาทิ จ.เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และ จ.หนองคาย ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ส่วนในปี 2566 ตั้งแต่ 1 มกราคม-11 กุมภาพันธ์ 2566 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยแล้ว 19 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

ซึ่งในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 มี 4 จังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ห้วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 10 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 115 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร และรับจ้างทั่วไป โดย จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยไข้หูดับ 96 ราย, จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 ราย, จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 16 ราย และ จ.บุรีรัมย์ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย ส่วนปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-10 กุมภาพันธ์ 2566 ในเขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยไข้หูดับ 4 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการตรวจพบผู้ป่วยที่ จ.นครราชสีมา 3 ราย และ จ.ชัยภูมิ อีก 1 ราย

สำหรับโรคไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในหมูเกือบทุกตัว โดยเชื้อชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดอาการป่วย เชื้อชนิดนี้จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทำให้หมูตัวนั้นตาย และสามารถติดต่อไปสู่คนได้ 2 ทาง คือ จากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และจากการสัมผัสเนื้อหมูที่มีเชื้อโดยตรง ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไป จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน จนอาจถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

โดยในช่วงนี้มีงานเลี้ยง พบปะสังสรรค์ จัดงานประเพณี หรือในช่วงเทศกาลต่างๆ อาจมีการนำเนื้อหมูมาเลี้ยงแขกในงาน ประชาชนจะต้องระมัดระวังอย่ากินเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหูดับได้ ในขณะที่ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น คนเลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และผู้ชำแหละเนื้อหมู ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และดูแลโรงเรือนให้สะอาดตามหลักสุขอนามัย รวมถึงตรวจสุขภาพหมู ให้วัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด และสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งที่สัมผัสหมู ซึ่งข้อมูลรายงานการสอบสวนโรคในผู้ป่วยโรคหูดับ ของเขตสุขภาพที่ 9 ห้วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ไม่ใส่ถุงมือเวลาปรุงอาหาร เมื่อบีบเลือดดิบกับตะไคร้ ทำให้มีแผลที่มือ จึงติดเชื้อโรคหูดับได้ และยังพบปัจจัยเสี่ยงจากการร่วมงานเทศกาลงานบุญ โดยผู้ป่วยกินหมูดิบร่วมกัน จึงทำให้เป็นโรคหูดับ

Advertisement

จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการกินอาหารในช่วงเทศกาล-งานประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะการทำอาหารกินเองในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนๆ หากนำเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน มากินดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ-หลู้หมูดิบ หรือปิ้งย่างหมูกระทะ ควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น ให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบหมูดิบๆ แยกต่างหาก ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบแล้วนำมารับประทาน และไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู ส่วนผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image