อว.ตรวจการบ้านวชช.แพร่-น่าน ยกกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  เปิดเผยว่า ตามที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการอว. มีนโยบายให้ผู้บริหารสถาบันวิทยาลัยชุมชน ผลักดันหลักสูตร Non Degree เพื่อเชื่อมต่อรับใช้ชุมชน เพิ่มบทบาทด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์  นั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยชุมชน(วชช.)แพร่ จังหวัดแพร่ และวิทยาลัยชุมชน(วชช.)น่าน จังหวัดน่าน เพื่อรับฟังการดำเนินงานของทางวิทยาลัย ทั้งในส่วนของโครงการ U2T โครงการ Phrae Rich  ทั้งนี้การจัดการศึกษาของวชช. เป็นการจัดการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งหลักสูตรสูงสุดจะเป็นระดับอนุปริญญา โดยผู้ที่เข้าเรียนในวชช.จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล วชช.จึงเป็นสถาบันการศึกษาที่เข้าไปเติบเต็มและให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 วชช.มีบทบาทอย่างมาก

“คณาจารย์ บุคลากรของวชช.มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในชุมชน ทำให้มีการฝึกอบรมอาชีพแก่คนในชุมชน รวมถึงคนที่ว่างงานในช่วงโควิด-19 กลับมาอยู่ภูมิลำเนา ได้มาฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติม รวมทั้ง กระทรวงอว.มีโครงการ U2T ซึ่งวชช.สามารถเข้าไปช่วยเสริมพัฒนาศักยภาพของชุมชนผ่านโครงการดังกล่าว ทำให้บทบาทของวชช.มีความโดดเด่นมากขึ้น”นายสัมพันธ์ กล่าว

Advertisement

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการอว. กล่าวต่อว่า อว. ยังได้มีการจัดตั้งอว.ส่วนหน้าใน 10 จังหวัด ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดนั้น เป็นอีกบทบาทหนึ่งของวชช. และเป็นตัวแทนกระทรวง ทั้งนี้ วชช.แพร่ และวชช.น่าน ล้วนมีภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวนมาก อาทิ งานพุทธศิลป์ ผ้าหม้อห้อม งานศิลปหัตถกรรม งานใหม่ และมีภูมิปัญญาชาวบ้านจากทั้งพระภิกษุสงฆ์ ผู้สูงอายุในชุมชน ก็ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มคนว่างงานในช่วงโควิด-19 ได้เข้ามาฝึกปฎิบัติ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และต่อยอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย  การดำเนินงานของวชช.แพร่และวชช.น่าน ไม่ใช่เพียงการสร้างอาชีพ พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนเรื่องแพทย์แผนไทย สมุนไพร และดูแลสุขภาพของกลุ่กลุ่มผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตร่วมด้วย โดยทุกหลักสูตรระยะสั้นสามารถเข้ามาเรียนรู้ ฝึกอาชีพได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ รวมถึงได้มีการเชิญกลุ่มผู้เกษียณอายุที่มีความรู้ มีประสบการณ์มาเป็นวิทยากร เป็นอาจารย์ผู้สอน ไม่ลดคุณค่าของผู้สูงอายุ  อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงาน โครงการ U2T ในเฟส1 ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่ไปแล้ว 60 ตำบล และเฟส 2 พัฒนาพื้นที่ 170 ตำบล ในปี2566 นี้ ทางอว.ได้มอบหมายให้วิทยาลัยชุมชนทั้ง 21 แห่ง จัดทำหลักสูตรระยะสั้น เพื่อUpskill- Reskill เพิ่มศักยภาพของคนในชุมชนให้สามารถสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการประเมินว่าโครงการ U2T ช่วยเศรษฐกิจครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้กลุ่มบางกลุ่มสามารถประกอบอาชีพ อาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image