วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าปราจีนบุรี ผู้ว่าฯตั้งโต๊ะแถลงบ่าย 3 นี้

ตามหาวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายออกจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม มีรายงานว่า วัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ซึ่งเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ติดอยู่ที่ปลายท่อโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี หายไป โดยบริษัทไม่ทราบว่าหายไปได้อย่างไร หรือหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่

ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัทเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี แล้ว เกรงว่าจะเป็นอันตรายหากมีผู้ไปสัมผัส รวมทั้งตั้งรางวัลนำจับ 50,000 บาท สำหรับผู้แจ้งข้อมูลจนนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 กลับคืนมาได้

Advertisement

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแถลงความคืบหน้าในเวลา 15.00 น.ของวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย อธิบาย ซีเซียม-137 (Cs-137) ว่าเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)

Advertisement

โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) ใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า

การนำมาใช้งาน พบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหล หรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน

นอกจากนี้ หากบังเอิญได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาเคมีโดยจับกับซีเซียม ทำให้ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image