ผู้ว่าฯเชียงใหม่ประกาศ Work from Home หลังพบฝุ่นจิ๋วเกินต่อเนื่อง อ.พร้าว 977 / อ.เมือง 628 แพทย์ มช.แนะ 10 ข้อสู้มลพิษ
วันที่ 7 เมษายน 2566 จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่เลวร้ายมากขึ้น ติดอันดับ 1 โลกในแอพพลิเคชั่น AirVisual ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบจุดเผาไหม้โอบล้อมทั้งเขตอำเภอใกล้เคียงและรอบนอกทำให้ปริมาณฝุ่นไหลเข้ามาสมทบในตัวเมือง ท้องฟ้ากลายเป็นสีหม่นปนม่วง และไร้แสงแดดตลอดทั้งวัน แม้ตอนบ่ายฝุ่นจะยกตัวจากกระแสลมในบางช่วงและแดดที่ค่อนข้างร้อนจัด แต่ไม่สามารถทำให้ฝุ่นที่หนาทึบจางลงแต่อย่างใด ค่าฝุ่นที่ตรวจวัดได้ยังคงสูงเกินค่ามาตรฐาน
โดยข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง ภาพรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เช้านี้อันดับ 1 อยู่ที่ ต.สันทราย อ.พร้าว มีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงมากถึง 977 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) คุณภาพอากาศอันตราย เช่นเดียวกันกับพื้นที่ชุมชนหมื่นสาร ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ มีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงถึง 628 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม จึงควรงดกิจกรรมนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด เลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้ง และประชาชนทุกกลุ่มควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นขนาดเล็กตามมาตรฐาน เช่น หน้ากาก N95 N94 R95 P2 KN95
ล่าสุดนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดระบบการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน เนื่องด้วยจังหวัดเชียงใหม่มีสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมามีค่าเกินค่ามาตรฐานอยู่ระหว่าง 112-398 มคก/ลบ.ม และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้ออกประกาศฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และหากจัดประชุมให้พิจารณาประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหาร ขอให้พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก เพื่อลดผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อีกทั้งขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัทห้างร้าน หรือสถานประกอบการ เพื่อลดการออกนอกเคหสถาน สำหรับกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ลดหรืองดการออกนอกบ้าน พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องปลอดฝุ่นให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีห้องปลอดฝุ่น ให้พิจารณาหยุดการเรียนการสอน และสวนสาธารณะในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ให้พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ทั้งนี้ให้ดำเนินการเป็นเวลา 1 วัน คือในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566 หากสถานการณ์ฝุ่นละออง ยังไม่คลี่คลายจะได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบโดยเร็วต่อไป
ในขณะที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ รายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) รอบเช้า จำนวน 261 จุด ในป่าสงวนแห่งชาติ อ.แม่แจ่ม 23 จุด, แม่ออน 21 จุด, สะเมิง 10 จุด, แม่วาง 6 จุด, เวียงแหง 5 จุด, แม่แตง 4 จุด, อมก๋อย 3 จุด, แม่ริม 3 จุด, ดอยสะเก็ด 2 จุด, ฮอด 2 จุด, เชียงดาว 2 จุด, สันทราย 1 จุด, ดอยหล่อ 1 จุด, แม่อาย 1 จุด ในป่าอนุรักษ์ อ.พร้าว 54 จุด, เชียงดาว 38 จุด, เวียงแหง 19 จุด, แม่แตง 14 จุด, ฝาง 9 จุด, สะเมิง 8 จุด, ไชยปราการ 7 จุด, แม่แจ่ม 6 จุด, ดอยสะเก็ด 5 จุด, ฮอด 4 จุด, หางดง 2 จุด, แม่ริม 2 จุด, จอมทอง 2 จุด, แม่วาง 2 จุด, อมก๋อย 1 จุด, แม่อาย 1 จุด, สันกำแพง 1 จุด และในเขต สปก. อ.แม่แจ่ม 1 จุด, กัลยาณิวัฒนา 1 จุด รวมยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน ทั้งหมดจำนวน 9,408 จุด
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ออกคำแนะนำหลักสำหรับประชาชนในการดูแลตนเองเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ๆ มีหมอกควัน ด้วยความห่วงใยว่า 1.ติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่หรือใกล้เคียงที่สุดเป็นระยะๆ โดยเลือกดัชนีที่สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงเวลาชั่วโมงล่าสุดเป็นสำคัญ หรือใช้เครื่องวัดค่ามลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 แบบพกพา 2.ปิดประตูหน้าต่างเพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคารและใช้เครื่องฟอกอากาศประสิทธิภาพสูง
ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ถึง 99.7% ข้อควรระวัง ห้องที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน หากปิดห้องสนิทจนระบบอากาศภายในและภายนอกไม่สามารถถ่ายเทกันได้ อาจทำให้รู้สึกมีอาการอึดอัด ปวดหรือมึนศีรษะ อ่อนล้า ควรเปิดพัดลมระบายอากาศออกร่วมด้วย หรือหากไม่มีพัดลมระบายอากาศออก อาจเปิดแง้มห้องเพื่อช่วยในการระบายอากาศเป็นระยะๆ และควรมีเครื่องตรวจวัดฝุ่นละเอียด PM2.5 แบบพกพาเพื่อวัดประสิทธิภาพของการฟอกอากาศภายในห้อง
3.ควรสวมหน้ากากชนิด N95 เมื่ออยู่นอกอาคาร หรืออยู่ในอาคารที่ไม่มีระบบหรือเครื่องฟอกอากาศ เพราะสามารถกรองมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แต่ต้องสวมให้ถูกวิธี โดยเลือกขนาดที่ใส่ได้กระชับกับรูปจมูกและใบหน้า หากเริ่มอึดอัดหรือเหนื่อย ให้ถอดออกเพียงชั่วครู่ก็จะรู้สึกสบายขึ้นแล้วรีบสวมใหม่ทันที การใส่หน้ากาก N95 ที่มีวาล์วระบายลมหายใจออกจะทำให้อึดอัดน้อยลง และใส่ได้นานขึ้น และไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 4.หลีกเลี่ยงหรืองดการทำงาน การออกกำลังกายนอกอาคาร หรือในอาคารที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ
โดยเฉพาะการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักและต่อเนื่องนานๆ เพราะทำให้สูดมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 เข้าปอดและร่างกายได้มากกว่าปกติหลายเท่า อาจทำให้โรคที่ซ่อนเร้น เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ โรคภูมิแพ้โพรงจมูก และหอบหืดเกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ 5.หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ แม้จะมีระบบปรับอุณหภูมิอากาศให้รู้สึกเย็นสบาย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ เนื่องจากภายในอาคารเหล่านี้หากดูด้วยสายตามักไม่เห็นความพร่ามัวของอากาศในอาคารและจะไม่ได้กลิ่นเผาไหม้ หากจำเป็นต้องอยู่ในอาคารดังกล่าว ควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดและควรสวมหน้ากาก N95 และทำตามคำแนะนำข้อ 3
6.ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรังเช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะได้รับผลกระทบเร็วกว่าคนปกติ จึงไม่ควรขาดนัด ขาดยาที่แพทย์ให้ใช้ควบคุมโรค และควรหมั่นสังเกตอาการโรคกำเริบ หากมีอาการกำเริบควรใช้ยาหรือรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์ได้แนะนำ และไปพบแพทย์โดยเร็วหากอาการไม่ทุเลา 7.ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือแข็งแรง ถ้ามีอาการผิดปกติที่รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น แน่นอก เจ็บอกหรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่ เหมือนมีของหนักกดทับ เหนื่อยหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน มองไม่เห็นฉับพลัน มีอาการไอแบบระคายเป็นชุด ไอมีเสียงดังหวีด มีไข้และหอบเหนื่อยควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉินทันที
8.สวมแว่นตาขนาดใหญ่เพื่อป้องกันดวงตาจากมลพิษ ใช้น้ำเกลือมาตรฐานล้างตาหรือใช้น้ำตาเทียมหยอดตาหากรู้สึกระคายเคือง 9.ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเมื่อมีอาการคัดแน่นจมูก หรือมีมูกเมือกในโพรงจมูก เพื่อล้างมูกเมือกและฝุ่นหยาบ ลดอาการคัดจมูก หรือกลั้วคอเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่การใช้น้ำเกลือล้างจมูกไม่สามารถล้างฝุ่นละเอียดออกจากเยื่อบุโพรงจมูกได้ เพราะฝุ่นละเอียดเหล่านี้จะซึมซับเข้าในผนังเยื่อบุและเส้นเลือดฝอยทันทีที่สูดเข้าไป
และ10.ไม่เป็นผู้ก่อมลพิษเองหรือเลี่ยงการก่อมลพิษเท่าที่จำเป็น รวมทั้งไม่ก่อมลพิษในอาคาร ได้แก่ ไม่กวาดในอาคาร ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือใช้ผ้าเปียกชื้นเช็ดถู ไม่สูบบุหรี่ ไม่จุดเตาหุงต้ม ไม่ก่อสร้างต่อเติมหรือทาสีอาคาร ไม่ก่อมลพิษนอกอาคาร ได้แก่ ไม่เผาทุกชนิดในที่โล่ง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถโดยไม่จำเป็น