ป.ป.ช.ตรัง สุ่มตรวจอาหารกลางวัน พบ น.ร.แทบไม่แตะอาหาร หันไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน 

ป.ป.ช.ตรัง สุ่มตรวจอาหารกลางวัน พบ น.ร.แทบไม่แตะอาหาร หันไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง เครือข่ายภาคประชาชน ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านนาเมืองเพชร ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนอนุบาล จำนวน 80 คน ประถม 277 คน มัธยม 1-3 จำนวน 100 คน ซึ่งทางโรงเรียนได้ค่าหัวนักเรียนหัวละ 22 บาท ทางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากท้องถิ่นเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร ต้องไปรับเช็ค 100 วัน ต่อ 1 ภาคเรียน แต่ตั้งแต่เปิดเรียนผ่านมา 5-6 วัน ทางเทศบาลไม่จัดสรรเงินงบประมาณมาให้ ส่วนความล่าช้าของเงินอุดหนุนไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ในส่วนของครูได้แชร์ค่าอาหารกลางวันคนละ 300 บาทต่อเดือน

ปัญหาความล่าช้าของเงินอุดหนุนทำให้ ทางโรงเรียนต้องรวมเงินลงขันจ่ายให้กับคู่สัญญาไปก่อน ซึ่งทางโรงเรียนแจ้งว่าได้จัดซื้อจัดจ้างแบบอาหารปรุงสำเร็จ แต่เมื่อขอตรวจสอบเอกสารปรากฏว่าทางโรงเรียนแจ้งว่าเอกสารทั้งหมดได้ส่งไปเทศบาลหมดแล้ว จึงไม่มีให้ตรวจสอบ

สำหรับเมนูอาหารวันนี้คือ แกงไตปลา ผัดผักกะหล่ำปลี ผลไม้คือฝรั่ง ส่วนเมนูไก่ต้มฝักเป็นเมนูเสริมให้กับเด็กอนุบาล แต่อาหารดังกล่าวนักเรียนทุกระดับชั้นกินเหมือนกันหมด ซึ่งเพียงพอต่อนักเรียนทุกคน แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีเด็กจำนวนมากรับประทานอาหารเหลือในจาน แทบจะไม่แตะอาหารเลย แต่หลายคนหันไปซื้อมาม่าคัพจากสหกรณ์มาใส่น้ำร้อนรับประทานแทนข้าว

Advertisement

จากการพูดคุยกับแม่ครัวเป็นผู้ทำอาหารในโรงเรียน ระบุว่า เป็นผู้ไปจัดซื้ออาหารมาปรุงในโรงเรียนเอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยนำงบประมาณไปจ้างแม่ครัวซื้อวัตถุดิบ และมาปรุงให้กับนักเรียน แต่เมื่อสอบถามว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรทางโรงเรียนปฏิเสธการให้สัมภาษณ์

นายยุทธนากล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครูว่าทางโรงเรียนยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ทางผู้อำนวยการโรงเรียน และคุณครูต้องช่วยกันแชร์เงินกันเพื่อให้ได้มีการเบิกจ่ายให้กับคู่สัญญาในการจัดทำโครงการอาหารกลางวันเป็นเงินจำนวน 30,000 กว่าบาท

นายยุทธนากล่าวว่า ส่วนการจัดทำโครงการอาหารกลางวันก็ได้มีข้อสังเกตในเรื่องของคุณภาพของอาหาร เช่น บางเมนูที่ทำมาน้องๆ หนูๆ นักเรียนไม่ชอบทาน เช่น ผัดกะหล่ำปลี ฟักต่างๆ ทำให้ต้องมีการเททิ้ง เป็นที่น่าเสียดาย ก็พยายามให้ทางโรงเรียนปรับปรุงเมนูให้สอดคล้องกับการบริโภค หรือการรับประทานของนักเรียน ซึ่งหากเป็นไปตามหลักโภชนาการก็สามารถจะเกิดทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ

Advertisement

นายยุทธนากล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะไปขอเอกสารหลักฐานจากทางเทศบาลว่า ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามวิธีการระเบียบหรือกฏหมายกำหนดมาหรือเปล่าว่าใช้วิธีการแบบไหน ในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องกำชับให้ระมัดระวังในเรื่องของการใช้ นอมินี หรือยืมชื่อผู้อื่นมาเป็นคู่สัญญา แต่ใช้วิธีการในการไปซื้อวัตถุดิบต่างๆ มาดำเนินการเองตรงนี้ก็ต้องกำชับ ต้องเฝ้าระวังในตัวโครงการอาหารกลางวันแห่งนี้

ขณะที่นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า เท่าที่ลงไปตรวจสอบแบบที่ทางโรงเรียนไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้าเราก็พบว่าอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้เด็กนักเรียนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะดี คือมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งในส่วนของโปรตีน ในส่วนของผัก และในส่วนของผลไม้ ที่ให้เด็กรับประทานทั้งในเด็กระดับชั้นอนุบาลก็ถือว่าครบถ้วนดี แต่ประเด็นปัญหาของทางโรงเรียน ลักษณะของการทำการจ้างผู้มาทำอาหาร ที่ยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจากทางโรงเรียน ที่จะต้องนำมาตรวจสอบกันอีกครั้ง ว่าโรงเรียนใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบไหนกันแน่ เพราะเท่าที่สังเกตและขอข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจะทำถูกต้องตามระเบียบที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งก็จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ เพื่อให้โรงเรียนทำให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งเฝ้าระวังในเรื่องคุณภาพและปริมาณของอาหารที่นักเรียนจะได้รับในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image