หมอชี้วิกฤตลาออก กระจุกรพ.อำเภอ-ชุมชน จะแก้ระบบต้องแก้ทุกแผนก เพราะรพ.ไม่ได้มีแค่แพทย์

หนองบัวลำภู ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่ต้องมีภาระงานดูแลมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร จะขาดอยู่ในระดับโรงพยาบาลอำเภอ ส่วนโรงพยาบาลจังหวัดเพียงพอ ด้านแพทย์โคราช เผยปัญหาแพทย์ลาออกส่วนใหญ่เกิดกับโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก จี้ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ

จากกรณีมีประเด็นร้อนในวงการแพทย์ เมื่อนักแสดงสาว ปุยเมฆ นภสร หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล ยื่นใบลาออก โดยอ้างว่าส่วนหนึ่งมาจากระบบของโรงพยาบาลรัฐที่มีคนไข้จำนวนมาก และหมอไม่ได้พักผ่อน รวมถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลานาน

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการแพทย์ระบุว่า แพทย์ฝึกหัดต้องทำงาน 80-100 ชั่วโมง/สัปดาห์ อยู่เวรในโรงพยาบาลติดกัน 1-3 วัน ประกอบกับระบบราชการทำให้แพทย์รุ่นใหม่กว่า 50% ตัดสินใจยื่นใบลาออก ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายแพทย์ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ได้เปิดเผยข้อมูลถึง จังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่หมอมีภาระงานมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนประชากรภายในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้กล่าวว่า

จากตัวเลขที่แพทย์ต่อจำนวนประชากรทั้งจังหวัดนั้นจะรับผิดชอบประมาณ 4,000 กว่าคนต่อแพทย์หนึ่งคน ซึ่งเป็นตัวเลขของภาพรวม แต่ในส่วนของโรงพยาบาลจังหวัดซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้นในแต่ละปี จะมีแพทย์สต๊าฟและแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์น เป็นแพทย์ที่จบใหม่มาทำงานที่นี่ในแต่ละปีก็มีมาก เพื่อจะได้ฝึกทักษะประสบการณ์ ได้ใบประกาศไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางได้ ในปีที่ผ่านมา มีมา 16 คน ลาออก 1 คน ส่วนปีนี้ มาเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์ 17 คน โรงพยาบาลหนองบัวลำภูในรอบปีที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้รับการประเมินจากแพทย์จบใหม่ดี มาแล้วอยู่ได้ มีพี่เลี้ยงดูแลดี งานไม่หนักมาก ไม่มีปัญหาในการลาออก

ADVERTISMENT

แต่ปัญหาจะไปอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอ เป็นการขาดแคลนในระดับโรงพยาบาลชุมชน แพทย์ไม่อยู่ต่อเนื่อง ส่วนมาก แพทย์ที่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอจะต้องการไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง เมื่อเห็นว่าได้ทำงานใช้ทุนหรือใช้ทุนที่เหลือไม่มากก็จะลาออก

อีกอย่างทางส่วนกลางก็ยังต้องการแพทย์ไปช่วย จึงทำให้มีแพทย์ที่ต้องการไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางได้ตัดสินใจลาออกไป เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดรู้จักอาจารย์ที่จะทำให้ได้มีโอกาสในการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางได้ง่ายขึ้น แต่หากอยู่โรงพยาบาลอำเภอก็จะไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง

จึงทำให้ โรงพยาบาลในระดับอำเภอหรือระดับชุมชนขาดแคลนแพทย์ ซึ่งก็ยอมรับอยู่ว่า งานหนักอยู่ภาพรวมไม่ขาดแต่การกระจายไม่ดี ทำให้ขาดในระดับอำเภอหรือชุมชน

สอดคล้องกับที่ได้รับการเปิดเผยจาก แหล่งข่าวในวงการแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว ซึ่งถ้าไปถามแพทย์ระดับผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะได้รับอีกคำตอบแบบกลางๆ เพราะจะมีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ แต่ถ้าไปถามแพทย์ระดับปฏิบัติงาน จะรู้ว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง และมีมานานแล้วด้วย

เรื่องค่าตอบแทนหรือเงินเดือนน้อย เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอื่นเข้ามาสมทบอีกมากมาย เช่น แพทย์ใหม่ที่เข้ามาทำงานช่วง 1-2 ปีแรก จะต้องอยู่เวรติดต่อกันหลายวันมาก ซึ่งเขาจะต้องรับความกดดันทั้งจากการทำงานหนัก และจากการต้องแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่รู้จะไปปรึกษาใครได้ เมื่อความกดดันเหล่านี้สั่งสมนานวันเข้า ก็ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนต้องตัดสินใจลาออกในที่สุด

ซึ่งปัญหาลักษณะนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ประจำจังหวัดนัก เพราะโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ จะมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแพทย์รุ่นน้องอย่างใกล้ชิด แต่จะมีปัญหากับโรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดเล็ก ประจำอำเภอรอบนอก ซึ่งมีช่องว่างระหว่างแพทย์อาวุโส กับแพทย์ใหม่อยู่มาก

เพราะแพทย์รุ่นกลางๆ และรุ่นใหม่ มีการลาออกต่อเนื่อง และแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ ก็ต้องไปทำงานแทนตำแหน่งแพทย์ที่ลาออกทุกปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่มีเฉพาะกับแพทย์เท่านั้น แต่เป็นปัญหากับทุกแผนก เพราะโรงพยาบาลจะเป็นที่ทำงานของสหวิชาชีพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ และเภสัชกร เป็นต้น ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันหมด

ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะการเพิ่มเงินให้กับแพทย์อย่างเดียว ก็จะทำให้แผนกอื่นมองว่า แล้วพวกตนไม่มีชีวิตจิตใจหรือ ก็จะเกิดการลุกฮือมาเรียกร้องจากแผนกอื่นๆ ตามมาอีก ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลและคงจะแก้ไขไม่ได้ในปีเดียวแน่นอน