อีสานรัม : จากอ้อยหนองคาย สู่รางวัลใน ตปท. กระแสดีเกินต้าน 2566 หาชิมไม่ได้แล้ว

การเดินทางของ ‘อีสานรัม’ จากอ้อยหนองคาย สู่รางวัลในต่างประเทศ กระแสดีเกินต้าน 2566 หาชิมไม่ได้แล้ว

หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ออกรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ พูดคุยนโยบายสุราก้าวหน้า พร้อมแนะนำเหล้าสังเวียน จากสุพรรณบุรี และคีโร่ จากกระบี่ ส่งผลให้สุราพื้นบ้านที่นายพิธาพูดถึงจำหน่ายหมอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นายพิธายังเข้าไปคอมเมนต์ “แวะมา ‘กระซิบรัก'” ในเพจประชาชนเบียร์ที่ระบุว่า “Issan Rum อีสานรัม (เหล้าหนองคาย) หมดโรงแล้วครับ” ด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน น.ส.หนูรัก วรโคตร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม) เปิดเผยถึงความเป็นมาของ อีสานรัม (Issan Rum) ว่าจุดเริ่มต้นคือตนมีสามีเป็นชาวต่างชาติ (ฝรั่งเศส) เมื่อมาท่องเที่ยวที่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนก็มีความคิดอยากทำอะไรที่ไม่เหมือนกับคนอื่น และเห็นว่าในพื้นที่มีการปลูก “อ้อย” จำนวนมาก จึงมีความคิดอยากทำเป็น เหล้ารัม จากนั้นใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปี และใช้เวลาอีก 1 ปีในการทดลองทำ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากไม่เคยมีความรู้ในเรื่องนี้เลย รวมทั้งการทำเอกสารต่างๆ และการทดลองผลิต ช่วงแรกๆ ไม่ได้อะไรกลับมาเลย

ADVERTISMENT

น.ส.หนูรักกล่าวอีกว่า เราเริ่มผลิตจริงในปีที่ 2 คือใน พ.ศ.2557 ช่วงปีแรกถึงปีที่ 3 ยังผลิตไม่มาก เริ่มจากผลิตปริมาณน้อยๆ ไปหาปริมาณมากๆ วัตถุดิบคืออ้อย โดยซื้อในพื้นที่และชาวบ้านปลูกอ้อยส่งให้ เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ด้วย รวมทั้งแรงงานที่ใช้ก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่

ADVERTISMENT

น.ส.หนูรักกล่าวว่า ช่วงแรกๆ มีพนักงานเป็นคนงานของเราเอง ซื้ออ้อยที่สวนของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ต้องตัดมาส่งเรา แต่เราจะให้พนักงานไปตัดเองแล้วนำกลับมาทำตามขั้นตอนการผลิตเองทั้งหมด เริ่มจากตัดอ้อย บรรทุกอ้อย สับอ้อย ปอกอ้อย หีบอ้อย แล้วนำน้ำอ้อยที่ได้ไปหมัก ส่วนเรื่องตลาดนั้น หลังจากผลิตออกมาช่วงแรกๆ ไม่มีใครรู้จักเลย จึงนำผลิตภัณฑ์ไปนำเสนอตามร้านต่างๆ ใน จ.หนองคาย แต่ไม่มีใครยอมรับเราเลย

น.ส.หนูรักกล่าวต่อว่า จากการที่สามีเป็นชาวต่างชาติ มีเพื่อนในกลุ่มเป็นชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาช่วย ส่งไปประกวดที่ฮ่องกง และตรวจสอบค่าของน้ำเหล้าที่เราผลิตว่ามีอะไรเจือปนหรือไม่ มีสารที่เป็นอันตรายไหม ผลการประกวดได้เหรียญเงินกลับมา ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เราได้ส่งไปประกวดที่ฝรั่งเศสอีกก็ได้เหรียญทองกลับมา เป็นการประกวดรสชาติเหล้ารัม มีผู้ส่งเข้าประกวดจากทั่วโลกมากกว่าร้อยผลิตภัณฑ์

สำหรับชื่อและสัญลักษณ์ของ “อีสานรัม” น.ส.หนูรักกล่าวว่า เป็นความคิดของตนกับสามีหลังจากผลิตเหล้ารัมแล้วควรจะตั้งชื่อว่าอะไรให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรา ได้ข้อสรุปว่าภาคอีสานก็ใช้คำว่า “อีสาน” และคนไทยชอบสนุกสนานชอบรำ จึงเอามารวมกันเป็น “อีสานรัม” ซึ่งคำว่า “รัม” ถือว่ามี 2 ความหมาย คือ “การรำ” และ “รัม” ที่เป็นเหล้ารัม ส่วนภาพก็ใช้ภาพคนกำลังรำ

น.ส.หนูรักกล่าวอีกว่า หลังจากได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแล้ว ชาวต่างชาติก็มาเที่ยวชมมากขึ้นเรื่อยๆ จนติดเป็นอันดับที่ 2 ของสถานที่ท่องเที่ยว คนมาเที่ยวก็จะเป็นชาวต่างชาติ ส่วนคนไทยเพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้

“เอกลักษณ์ของอีสานรัมคือรสชาติ คนที่ได้ชิมแล้วจะติดใจจากกลิ่นอ้อยสดที่หอมละมุน ซึ่งอ้อยที่เป็นวัตถุดิบจะมีการตัดสดๆ วันต่อวัน ใช้อ้อยในการผลิตวันละ 1-2 ตัน หากตัดอ้อยมาแล้วเก็บไว้หลายวันจะทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และมีรสเปรี้ยว สู้อ้อยสดๆ ไม่ได้ หลังตัดอ้อยมาก็จะหีบเอาน้ำอ้อย หมักกับยีสต์เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นวันที่ 4 ก็จะนำมากลั่นแล้วนำไปเก็บไว้ในแท็งก์เป็นเวลา 1 ปี มีการตัดดีกรีจากประมาณ 50-55 ดีกรีให้เหลือ 40 ดีกรี ถึงจะนำมาบรรจุขวดได้” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม) กล่าว

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม) กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการผลิตที่เกาะสมุยด้วยและใช้ชื่อเดียวกัน ใช้กากน้ำตาลแทนน้ำอ้อยสด ส่วนตลาดก็มีทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ส่วนตลาดต่างประเทศจะมีอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมัน และอังกฤษ แต่ส่งไปไม่มาก เป็นการส่งไปเพื่อให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสได้ลิ้มรสอีสานรัม

เมื่อถามถึงกรณีนายพิธาคอมเมนต์ “แวะมา กระซิบรัก” ในเพจประชาชนเบียร์ส่งผลต่ออีสานรัมมากน้อยแค่ไหน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม) กล่าวว่า มีผลดีเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณมากๆ สมกับที่ได้เลือกมา

น.ส.หนูรัก วรโคตร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม)

ขอบคุณคุณพิธามากๆ มีกระแสตอบรับดีมาก แต่ปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ไม่มาก ต้องรอปีหน้าถึงจะผลิตได้อีก ส่วนอุปสรรคที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนนั้น ตอนนี้ยังไม่มีอะไร เพราะเราผ่านจุดที่ยากลำบากมาแล้ว ตอนนี้อยากทำกันเองมากกว่า ไม่อยากให้ยุ่งยากกับหน่วยงานไหน ตอนนี้เราอยู่ในนามวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โตอะไรมากมาย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนครอบครัวอีสาน (อีสานรัม) ระบุ

น.ส.หนูรักกล่าวว่า ดีใจและภูมิใจที่อีสานรัมเป็นที่รู้จักทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย แต่เดิมเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ตอนนี้ชาวไทยรู้จักมากขึ้น ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ต้องตั้งใจและศึกษาให้ถ่องแท้

“เมื่อ 2 ปีย้อนหลังเคยคิดจะเลิก เพราะมีอะไรที่ยุ่งยากมาก มีขั้นตอนอะไรต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งการปลูกสร้างอาคารต่างๆ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่มาตรวจทุกขั้นตอน เมื่อไม่ผ่านก็ต้องทำจนผ่าน แต่เมื่อผ่านจุดนี้มาได้ก็จะประสบความสำเร็จ” น.ส.หนูรักกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image