“ซินโครตรอน” เผยผลวิเคราะห์ดิน-น้ำ รอบเหมืองโปแตชโคราช พบโซเดียมคลอไรด์-โพแทสเซียมคลอไรด์ สูงผิดปกติ

“ซินโครตรอน” เผยผลวิเคราะห์ ดิน-น้ำ รอบเหมืองโปแตชโคราช พบโซเดียมคลอไรด์-โพแทสเซียมคลอไรด์ สูงผิดปกติ เตรียมส่งข้อมูลให้ผู้ว่าฯเพื่อให้GIS ประเมินความเสียหายและเยียวยาต่อไป

ความคืบหน้า ชาวบ้าน 3 ตำบลในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมตัวประท้วงเหมืองโปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด หลังได้รับอนุญาตประทานบัตร ทำเหมืองแร่โปแตช เป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างปี 2558-2583 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ใน ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และได้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากความเค็มในดินและในแหล่งน้ำของชุมชนบริเวณรอบๆ เหมืองแร่โปแตชดังกล่าว ทำให้ที่นากว่า 1 หมื่นไร่เสียหาย ไม่สามารถทำการเกษตรได้ โดยตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งหลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้สั่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบกิจการของเหมืองแร่ ที่ชาวบ้านต้องการให้หยุดประกอบกิจการ รวมทั้ง ตรวจสอบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฐานพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตและมีความประพฤติปฏิบัติโดยมิชอบ ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้ มานำเสนอต่อพี่น้องประชาชนเพื่อความโปร่งใส และนำส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง แล้วได้ส่งตัวอย่างดินและน้ำ ทั้งบนผิวดินและใต้ดิน จำนวน 35 ตัวอย่าง ส่งให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ช่วยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำในพื้นที่โดยรอบพื้นที่เหมืองโพแตช เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของความเค็มในพื้นที่ชุมชน ซึ่ง รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ซินโครตรอนได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนข้อมูลที่เป็นจริง สำหรับนำไปประกอบการพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ทำการศึกษาน่าจะนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไปได้

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้ดูองค์ประกอบธาตุในตัวอย่างน้ำและตัวอย่างดิน ขั้นแรกใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการสแกน พบว่า ในตัวอย่างน้ำส่วนใหญ่มีโซเดียม โพแทสเซียม และคลอรีนในปริมาณมาก จากนั้น ตรวจด้วยแสงซินโครตรอนหาโลหะหนักหรือธาตุอื่น พบว่า มีอยู่ปริมาณน้อยๆ แต่ไม่พบในปริมาณที่ผิดปกติ โดยหลักๆ คือ เจอโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์ และได้ใช้ซินโครตรอนอีกเทคนิค ดูรูปร่างของผลึกเพื่อยืนยันการพบโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์ด้วย

ทั้งนี้ นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สรุปได้ว่า บริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนโซเดียมคลอไรด์สูงมาก และมีการปนเปื้อนโพแทสเซียมคลอไรด์อยู่ในระดับที่สูงผิดปกติจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลตรวจที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งขั้นตอนต่อไป จะนำส่งผลวิเคราะห์นี้ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คณะทำงานอีกคณะ ซึ่งเป็นคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) นำไปประเมินความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม และการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน เพื่อให้มีการเยียวยาต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image