‘ผู้ว่าฯนครพนม’ วางแผนรับมือฝนตกหนัก เร่งช่วยเหลือประชาชน

จากสถานการณ์ที่มีพายุฝนตกลงมาในพื้นที่จังหวัดนครพนมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม  ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ถนนชำรุด รวมถึงพื้นที่การเกษตรเสียหายนั้น

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประชุมด่วน เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อมูลด้านต่าง ๆ

จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมในการเตรียมการรับสถานการณ์ น้ำของเทศบาลเมืองนครพนมที่นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณภัยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขง ด้วยเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ จำนวน 4 จุด ที่กระจายอยู่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 จุด เพื่อเร่งช่วยระบายปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่

นายวันชัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดนครพนม มี 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย อำเภอนาแก ที่บ้านนายาง ตำบลพุ่มแก ถนนเพื่อการเกษตรถูกน้ำกัดเซาะขาด 1 เส้น ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ อำเภอท่าอุเทน ถนนสายบ้านนาผักปอด หมู่ที่ 3 ตำบลโนนตาลเชื่อมกับบ้านดงยาง ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ และถนนสายเลียบห้วยตับแฮด บ้านโพน หมู่ที่ 8 ตำบลโนนตาล ถูกน้ำกัดเซาะจนขาด ทำให้ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรไปมาได้ทั้ง 2 เส้น ส่วนที่อำเภอธาตุพนมในตำบลนาหนาด ตำบลฝั่งแดง และตำบลน้ำก่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำช่วงปลายทางเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายลงสู่แม่น้ำโขง เบื้องต้นจากการตรวจสอบทั้งจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 3,500 ไร่ ถนนขาด 4 สาย โดยทั้ง 3 อำเภอยังไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ส่วนระดับน้ำยังคงทรงตัว

Advertisement

อย่างไรก็ดีได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ โดยขอให้สร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการข้อมูลและแนวทางการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น พื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การนำสะพานชั่วคราวออกให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การก่อสร้างบล็อคคอนเวิร์สที่มีความมั่นคงถาวรเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในระยะยาว การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบของทางราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image