‘ศรีเทพ’ สู่ ‘มรดกโลก’ แหล่งอารยธรรม 3 ยุค

‘ศรีเทพ’ สู่ ‘มรดกโลก’ แหล่งอารยธรรม 3 ยุค

“อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณสำคัญ โดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม เคยเป็นศูนย์กลางทางการแลกเปลี่ยนสินค้า สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องถึงยุคทวารวดีจวบจนถึงยุคเขมรโบราณ

ปัจจุบัน “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ถูกเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลก จะมีการพิจารณาความเหมาะสม ก่อนจะประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในช่วงวันที่ 10-25 กันยายนนี้ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

สถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพปัจจุบัน ในเรื่องความยิ่งใหญ่อลังการอาจจะไม่เท่ากับอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา หรือสุโขทัย แต่ในด้านวิชาการ เมืองโบราณศรีเทพมีความสำคัญค่อนข้างมาก มีความเก่าแก่ในยุคทวารวดี ซึ่งในเมืองไทยมีโบราณสถานยุคทวารวดีหลายแห่ง แต่ปัจจุบันถูกผู้คนเข้าไปอยู่อาศัย ทำให้ความเป็นเมืองในยุคทวารวดีไม่มีให้เห็นแล้ว

Advertisement

“ศรีเทพเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีความเป็นเมือง หรือชุมชนโบราณ ตั้งแต่คูน้ำคันเมืองและเมืองชั้นนอกชั้นในครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัย ขณะที่โบราณสถานแม้จะเป็นซากปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังมีคุณค่าทางวิชาการหลงเหลืออยู่มากๆ”

รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า หากมองช่วงก่อนที่จะเป็นเมืองศรีเทพ เป็นที่ตั้งของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีการขุดค้นพบโครงกระดูก หลุมขุดค้นที่ชั้นหนึ่งเป็นโครงกระดูกมนุษย์ และอีกชั้นหนึ่งเป็นโครงกระดูกช้าง ภายหลังยังมีการขุดค้นเพิ่มเติมพบอีกหลายโครง บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้ในยุคสมัยที่ยังไม่เป็นเมือง มีชุมชนในยุคสมัยตอนปลายเข้ามาอาศัยอยู่อายุประมาณราว 2,000 ปี

“เมืองศรีเทพหลังจากรับเอาความเจริญจากภายนอกเข้ามา ผู้คนเดินทางติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า จึงมีการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นเมือง วัฒนธรรมแรกที่เข้ามา ได้แก่ ยุคทวารวดี ความโดดเด่นคืออยู่ภายใต้ศาสนาพุทธ และภายใต้เมืองศรีเทพซึ่งได้รับอิทธิพลทวารวดี เราได้พบเทวรูปศาสนาฮินดู อาทิ พระสุริยเทพ พระนารายณ์ พระกฤษณะด้วย”

Advertisement

สถาพรกล่าวอีกว่า นอกจากวัฒนธรรมทวารวดีแล้ว เมืองศรีเทพเริ่มรับอิทธิพลเขมรโบราณ หากเทียบเคียงกับศิลปะของเขมรก็ตรงกับนครวัด หลักฐานที่ชัดคือปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง จึงถือว่าเมืองศรีเทพมีพัฒนาการของการก่อร่างสร้างเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นเมืองที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน เมื่อดูจากจุดที่ตั้งของเมืองศรีเทพตั้งอยู่ขอบของที่ราบกลางตอนบน เพื่อจะเดินทางเชื่อมต่อไปทางแถบที่ราบสูงภาคอีสาน คนที่อยู่ทางภาคอีสานก็ต้องการสินค้าที่อยู่แถบภาคกลาง ก็เลยมีการเดินทางไปมา เห็นได้ว่าเมืองศรีเทพเจริญขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลจากภายนอก พบโบราณวัตถุหลายๆ อย่างที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำมาจากภายนอก ไม่ได้ผลิตขึ้นเอง

“เมืองศรีเทพเหมือนเป็นจุดแวะพักระหว่างทางและแลกเปลี่ยนสินค้า ทำให้อิทธิพลวัฒนธรรมทางด้านศาสนาและศิลปกรรมค่อนข้างมีมาก อาทิ การขุดค้นพบลูกปัดแก้วกระจายรอบๆ เมืองศรีเทพ ส่วนแหล่งผลิตลูกปัดอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ยังขุดพบลูกปัดหินอาเกต หินคานิเดียน หินเหล่านี้อาจมาจากอินเดีย แต่มิใช่หมายความว่าหินเหล่านี้มาจากแหล่งโดยตรง อาจมีการแลกเปลี่ยนกันมาเป็นทอดๆ กระทั่งเดินทางมาที่เมืองศรีเทพ”

รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า ดูจากผังเมืองศรีเทพได้ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำโดยตรง คนในยุคสมัยนั้นต้องหาวิธีให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคภายในเมือง ลักษณะง่ายๆ ของเมืองยุคทวารวดีคือการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบ นอกจากเป็นขอบเขตของเมืองแล้ว อีกวัตถุประสงค์ก็คือการเป็นแหล่งน้ำไว้อุปโภคบริโภค

“ผังเมืองโบราณศรีเทพแบ่งเป็นเมืองชั้นในและชั้นนอก เมืองชั้นในเป็นรูปร่างกลมๆ เป็นเมืองที่มีมาก่อน เป็นยุคต้นๆ ร่วมสมัยทวารวดี แม้เมืองชั้นในจะมีปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง สร้างขึ้นมาในช่วงเขมรโบราณ ถ้าขุดตรวจสอบชั้นดินด้านล่างของปรางค์สองพี่น้องจะพบร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนสมัยทวารวดีมาก่อน ส่วนเมืองชั้นนอกหลังจากผู้คนอาศัยมากขึ้นจึงย้ายออกไปทางทิศตะวันออกและขุดคูน้ำเชื่อมต่อออกไป”

นอกจากนี้ เมืองศรีเทพจะมีโบราณสถานอยู่นอกเมือง ได้แก่ เขาคลังนอกเป็นสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และคงเหลือสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด แม้ปัจจุบันจะเหลือเฉพาะส่วนฐาน ส่วนสถูปเจดีย์เหลือร่องรอยเป็นส่วนน้อย แต่ก็พอเห็นรูปร่างอยู่

“สำหรับเขาถมอรัตน์เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ เข้าใจว่าในสมัยทวารวดีมีการขึ้นไปดัดแปลงถ้ำและสลักเป็นรูปพระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ ชาวเมืองศรีเทพเคารพเขาถมอรัตน์เหมือนเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ และช่วงรับอิทธิพลเขมรโบราณเข้ามา คติความเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะตัวอาคารโบราณสถานศิลปกรรมสร้างในยุคเขมรโบราณก็จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเหมือนแสดงความเคารพต่อเขาถมอรัตน์”

รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า สาเหตุที่เมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะความแล้งแห้ง หรือโรคระบาด แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานถูกทิ้งร้างมาจากภัยสู้รบแย่งชิง ไม่มีการเกณฑ์ไพร่พลไปไหน แต่แค่เหมือนกับผู้คนอพยพออกจากเมืองไปด้วยเหตุผลบางอย่าง

“ส่วนประเด็นศรีเทพเป็นมรดกโลกนั้น ประเทศไทย หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะได้อะไรนั้น อันดับแรกคือได้ชื่อเสียง การเป็นมรดกโลกก็ไม่ได้ให้อะไรกับเรา ไม่ได้มีให้งบประมาณ เพียงแต่กรณีที่ตัวแหล่งมรดกโลกถูกคุกคาม หรือไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี ทางศูนย์มรดกโลกจะมีผู้ชำนาญการอนุรักษ์ให้คำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนสิ่งที่เราจะได้อย่างชัดเจน คือได้ชื่อเสียงว่าเรามีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้น ส่วนผลที่ตามมาก็คือการท่องเที่ยว จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้น”

“จริงๆ แล้วแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมประเทศไทยไม่ได้มีแหล่งใหม่ๆ รับการขึ้นทะเบียนมาราว 30 ปีแล้ว ที่ได้ครั้งสุดท้ายก็คืออุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเมื่อปี 2535 ฉะนั้น การที่ศรีเทพเป็นมรดกโลกจึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกคนไม่ว่าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความฮือฮา อยากจะเข้ามาดู หรือสัมผัสเมืองโบราณศรีเทพ”

รองอธิบดีกรมศิลปากรยังกล่าวถึงประเด็นที่เข้าตาคณะกรรมการที่มาประเมินเมืองโบราณศรีเทพว่า “เข้าใจว่าเวลาที่เขามองจะมองในรูปแบบของวัฒนธรรมกระจายอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่นั้น เมืองศรีเทพชูความเป็นเมืองยุคทวารวดีที่โดนใจคณะกรรมการคือ ความเป็นเมืองภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งมีความสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ และยังได้รับอิทธิพลอินเดียเข้ามา กระทั่งเขาคลังนอกรูปร่างจะมีอิทธิพลพวกศาสนาฮินดูมาก มองถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากภูมิภาคหนึ่งมายังภูมิภาคหนึ่ง ขณะที่ศรีเทพหลังจากได้รับมาก็ดัดแปลงให้เป็นของตัวเองและถ่ายทอดไปสู่ที่อื่นๆ ต่อไป”

สถาพรกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกนั้น เป็นความภูมิใจของประชาชนชาวไทยทุกคน ที่ผ่านมาชื่อเมืองโบราณศรีเทพอาจจะไม่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในภายภาคหน้าต่อไปเมืองโบราณศรีเทพ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพคงจะคุ้นหู หรือติดหู ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image