ไข้เลือดออกระบาด ‘ชัยภูมิ’ คร่าชีวิตหนุ่ม 18 พบบ้าน-โรงเรียนแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

ชัยภูมิไข้เลือดออกระบาดหนัก หนุ่มวัย 18 เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชัยภูมิ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ปี 2566 ว่า มีการแพร่ระบาดหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกถูกนำตัวส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้ง 16 อำเภอ รวมแล้ว 1,245 ราย เฉพาะเดือนกันยายน (ยอด ณ วันที่ 22 กันยายน) มียอดผู้ป่วยสูง 197 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชายอายุ 18 ปี รูปร่างสูงใหญ่ โดยสูง 183 ซม. และน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม

นพ.วชิระกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชาว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กำลังเรียนหนังสือชั้น ม.ปลาย มีอาการเป็นไข้สูง และนอนกินยารักษาตัวเองอยู่ที่บ้านได้ประมาณ 3 วันแต่ยังมีอาการไข้สูง กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ญาตินำส่งรักษาตัวที่ รพ.ชัยภูมิ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

Advertisement

นายแพทย์ สสจ.ชัยภูมิระบุว่า จากการสอบสวนโรคและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านผู้เสียชีวิต และสถานศึกษาที่ผู้เสียชีวิตเรียนหนังสืออยู่ พบว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกมาสู่ตัวผู้เสียชีวิต จึงระดมเจ้าหน้าที่กำจัดแหล่งที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายแล้ว

“ปีนี้ถือว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าปี 2565 โดยพุ่งสูงเกือบ 3 เท่าตัว กระจายอยู่ในทุกอำเภอ อำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ อ.เมือง 255 ราย อ.หนองบัวแดง 200 ราย อ.แก้งคร้อ 121 ราย ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดในปีนี้คือเด็กโต อายุ 10-14 ปี รองลงมาเป็นอายุ 15-24 ปี ส่วนเด็กอายุ 5-9 ปี พบเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ หากพบบุตรหลานป่วย ไข้สูง 2 วัน ทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที” นายแพทย์ สสจ.ชัยภูมิกล่าว

Advertisement

นายแพทย์ สสจ.ชัยภูมิกล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือจากการเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกพบว่ายุงลายมีพฤติกรรมออกหากินได้ตลอด ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน จึงมีแนวโน้มพบมีผู้ป่วยสูงขึ้นตลอดทั้งปี ฝากถึงประชาชนและ อสม.ทุกพื้นที่ที่เป็นแกนนำในการกำจัดยุงลาย ออกฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในทุกพื้นที่ ทุกคนต้องร่วมมือกันกำจัดแหล่งแพร่ระบาดลูกน้ำยุงลาย ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ให้มีน้ำขังตามกะลา เพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image