‘ชัยภูมิ’ ยื่นหนังสือ ขอสร้างสกายวอล์ค หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายให้ร้อยเอกรชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทส.เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ.เมืองชัยภูมิ เมื่อ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายสมบัติ ไตรศักดิ์ พร้อมด้วยน.ส.อรอาภา โล่ห์วีระ รองผวจ.ชัยภูมิ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดชัยภูมิ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทส.เขตภาคอีสาน ให้การต้อนรับ

นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผวจ.ชัยภูมิ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้ยื่นหนังสือ ในนามตัวแทนชาวชัยภูมิ ขอรับการสนับสนุนจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบสกายวอล์ค ซึ่งจังหวัดชัยภูมิ มีความประสงค์ที่จะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าพื้นที่ โดยเลือกบริเวณจุดชมวิวในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นจุดดำเนินการก่อสร้างสกายวอล์ค พร้อมทั้งขอให้พิจารณาปรับปรุงแนวเขตห้ามล่าบึงละหาน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่มานาน สอดคล้องกับการท่องเที่ยว โดยไม่กระทบต่อการอนุรักษ์สัตว์ในเขตห้ามล่า และขอให้ขยายเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติภูแลนคาให้คลอบคลุมพื้นที่บริเวณมอหินขาว หิน5แท่ง แหล่งท่องเที่ยวอันซีนอันดับต้นๆของเมืองไทย เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ และดูแลสถานที่ให้เป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม น่าท่องเที่ยว

จากนั้น ร้อยเอกรชฏ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อเกษตรแปลงใหญ่ ขนาด 300 ไร่ ของกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านหนองสำราญ ต.นางแดด อ.หนองบัวแดง ซึ่งทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างมาจาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้ระบบพลังงานโซล่าเซลและเครื่องปั่นไฟ สูบน้ำขึ้นถังสูง และปล่อยน้ำไปตามระบบท่อส่งน้ำผ่านหม้อมิเตอร์ เข้าแปลงเกษตรของสมาชิก มีคณะกรรมการบริหารจัดการเก็บค่าน้ำ ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อย ไม่มีน้ำฟรีอีกต่อไป เพื่อนำรายได้มาดูแล และบำรุงรักษาระบบน้ำ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากเกษตรอำเภออื่นๆทราบข่าว ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือผ่านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแลดล้อม เพื่อขอเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 ราย และคาดว่าจะมีกลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นอีก 1 ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีได้รับเรื่อง และส่งเรื่องให้กับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image