‘โคราช’ พบไข้หวัดใหญ่ระบาดเพิ่ม ย้อนหลัง 8 สัปดาห์ ป่วยพุ่งกว่าหมื่นราย

‘ผอ.สคร.9 โคราช’ เผย ไข้หวัดใหญ่ระบาดเพิ่ม หลังเด็กเริ่มเปิดเรียน เปิดสถิติย้อนหลัง 8 สัปดาห์พบยอดป่วยพุ่ง 11,400 ราย ขณะที่ทั่วประเทศป่วยกว่า 3.4 แสนราย เสียชีวิต 8 ราย 

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ จ.นครราชสีมา นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนลดลงและเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสถานศึกษาหลายแห่งเปิดเทอมแล้ว มีเด็กนักเรียนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน และพื้นที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล จึงอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชนเป็นวงกว้าง

นพ.ทวีชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สคร.9 นครราชสีมา รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-24 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมากถึง 341,917 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานข้อมูลสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า จังหวัดที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากสุด 3 อันดับแรก คือ 1.กรุงเทพมหานคร เสียชีวิต 2 ราย มีผู้ป่วยมากสุด 56,531 ราย 2.สุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ 3.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่มีผู้ป่วยมากสุด คือกลุ่มอายุ 5-14 ปี ซึ่งป่วยมากถึง 142,846 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยหญิงมากกว่าผู้ป่วยชาย

นพ.ทวีชัยกล่าวด้วยว่า ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 9 ดูแล 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-21 ตุลาคม 2566 มีผู้ป่วยสะสม 43,341 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากสุด คือกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ ซึ่งเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง คือในช่วงวันที่ 20 สิงหาคม-14 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย 28,935 ราย โดยจังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยมากสุด 11,462 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2565 ถึง 4.91 เท่า โดยช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 1,928 รายเท่านั้น ขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วยมากเป็นอัน 2 จำนวน 6,784 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 9.62 เท่า โดยปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 649 ราย ส่วนจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วยมากเป็นอัน 3 จำนวน 5,845 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 7.50 เท่า โดยปี 2565 มีผู้ป่วย 721 ราย และจังหวัดชัยภูมิ ในช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลังพบผู้ป่วยน้อยสุด จำนวน 4,844 ราย แต่ก็มากกว่าปี 2565 ถึง 44.70 เท่า เพราะปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 107 รายเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงมาก และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เพราะโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่าย หากรับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น และยังสามารถแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือมีการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งอาการป่วยคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ

Advertisement

นพ.ทวีชัยกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย และขอให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการด้วย และ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image