เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นบ้านชายแดน กลุ่มผู้นำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ จากประเทศเมียนมา สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร และแม่ฮ่องสอน กว่า 400 คน พร้อมรถบรรทุกโค กระบือ และรถบรรทุกฟางอัดก้อน รวมตัวกันที่หน้าด่านกักสัตว์ อ.แม่สอด บริเวณหลัก กม.ที่ 6 ถนนสายเอเชีย 12 สาย อ.แม่สอด-อ.เมืองตาก โดยใช้บรรทุกวัวเขียนป้ายปิดข้างรถ และทำการปิดถนนทั้ง 2 ฝั่งจราจรทั้งขาเข้า และขาออกเมืองแม่สอด-เมืองตาก ทั้งนี้ส่งผลกระทบต่อรถยนต์ของประชาชนที่ไปมา 2 ฝั่งเส้นทาง รถติดยาวหลายกิโลเมตร รวมทั้งรถบรรทุกสินค้า รถนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการโวยวายกัน ไม่พอใจกับการปิดถนนครั้งนี้
สำหรับสาเหตุเรื่องนี้มาจากการที่นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสัตว์ 4 ชนิด ประกอบด้วย โค กระบือ แพะ และแกะ รวมถึงซากสัตว์เหล่านี้ โดยอ้างเหตุจากเกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศเมียนมา จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเข้าสู่ไทย พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง สกัดกั้น และควบคุมโรคภายในประเทศอย่างเข้มงวด ซึ่งมีการประกาศครั้งที่ 1/2566 วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นเวลา 90 วัน และประกาศเพิ่มอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน มีผลสิ้นสุดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จนล่าสุดกรมปศุสัตว์ยังมีแผนจะประกาศให้ชะลอการนำเข้าโค แพะ แกะ รวมทั้งสัตว์อื่นๆ อีก 90 วัน ทำให้ผู้นำเข้าโค กระบือ กลุ่มต่างๆ ที่เป็นห่วงโซ่หลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ ชายแดนเมียนมาเป็นวงกว้าง จนบานปลายมาเป็นการปิดถนน สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ
ผู้ประกอบการที่มาร่วมชุมนุมเปิดเผยว่า มีการพูดคุยหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กับอธิบดีกรมปศุสัตว์ในเรื่องนี้แล้วว่า จะเปิดชายแดนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 แต่กลับมีประกาศเพิ่มการชะลอนำเข้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และข้ออ้างเกี่ยวกับโรคอะไร ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด ได้ขอกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจากพื้นที่อำเภอรอบนอก ไปช่วยดูแลสถานการณ์ที่ มีผู้ชุมนุมประท้วง แต่การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยไม่มีปัญหาใดๆ
ด้าน พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวในโอกาสไปราชการชายแดนที่ จ.ตาก ว่า เข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการโค กระบือ ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่เรื่องนี้ต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ส่วนการปิดถนน เป็นการทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน