พายุฤดูร้อนถล่มเชียงใหม่ แต่ล้าง ‘ฝุ่น’ ไม่หมด บ้านเรือนเสียหายเพียบ แพทย์ มช.เผยผู้ป่วยเพิ่ม 1 เท่าตัว จาก PM 2.5

พายุฤดูร้อนถล่มเชียงใหม่ แต่ล้าง ‘ฝุ่น’ ไม่หมด บ้านเรือนเสียหายเพียบ แพทย์ มช.เผยผู้ป่วยเพิ่ม 1 เท่าตัว จาก PM2.5

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลา 21.30 น. วานนี้ (19 มีนาคม) ได้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ รายงานความเสียหายผลกระทบจากพายุฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น.ว่า พบความเสียหายในพื้นที่อำเภอพร้าว หลังคาบ้านได้รับความเสียหาย 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน 41 ครัวเรือน ในพื้นที่ตำบลสันทราย หมู่ 1 บ้านห้วยส้าน จำนวน 4 ครัวเรือน หมู่ 2 บ้านหนองปิด จำนวน 4 ครัวเรือน หมู่ 4 บ้านท่ามะเกี๋ยง จำนวน 5 ครัวเรือน หมู่ 5 บ้านสันปง จำนวน 5 ครัวเรือน หมู่ 7 บ้านสันทราย จำนวน 2 ครัวเรือน หมู่ 10 บ้านหนองครก จำนวน 2 ครัวเรือน หมู่ 15 บ้านท่ามะเกี๋ยงเหนือ จำนวน 4 ครัวเรือน และตำบลบ้านโป่ง หมู่ 8 บ้านดงป่าแดง จำนวน 15 ครัวเรือน ซึ่งนายอำเภอพร้าว ร่วมกับ อบต.สันทราย เทศบาลตำบลบ้านโป่ง ปภ.สาขาเชียงดาว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไปแล้ว ส่วนอีก 24 อำเภอ ไม่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากฝนตกหนักและลมแรงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ รายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2567 รอบเช้า จำนวน 6 จุด ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 6 จุด แต่ค่าฝุ่น PM2.5 ยังสูงเกินค่ามาตรฐานทั้งจังหวัด สูงสุดอยู่ที่ 140 มคก./ลบ.ม. ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่

Advertisement

นพ.รังสฤษฎ์ กาจญนะวณิชย์ นายแพทย์หัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า หลายคนสงสัยว่า ฝนอุตส่าห์ตกเป็นชั่วโมง ทำไมตื่นมาเช้านี้ คุณภาพอากาศดีขึ้นนิดเดียว คืออยากให้สีเหลือง สีเขียวเลย นี่จากแดงจากม่วงลงมาเป็นส้ม สาเหตุเพราะฝนชำระล้าง PM2.5 ในอากาศได้น้อย เพราะขนาดเม็ดฝนกับฝุ่น 2.5 ไมครอน มันต่างกันมาก ขณะที่เม็ดฝนแหวกอากาศลงมา ฝุ่นจิ๋วจะถูกผลักให้กระเด็นออกจากพื้นผิว ฝนชะล้างได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ โดยการศึกษา PM2.5 scavenging rates พบว่า ฝนเบาๆ ตก 1 ชั่วโมง ลดปริมาณ PM2.5 ได้ 2.03% หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีผลเลย ยกเว้นฝนหนักจะลดได้ 26.75% แต่ถ้าฝนตกบริเวณกว้าง จุดความร้อนไฟป่าจะลดลง 2-3 วัน คุณภาพอากาศจะดีขึ้น

ทางด้าน ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกประกาศสารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชนว่า จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนานโดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

Advertisement

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค.2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ

ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน ขอให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม สังเกตอาการ หากมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีการควบคุมโรคแย่ลง มีอาการกำเริบรุนแรง ขอให้รีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที

บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองไม่เผาทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM2.5 หากระดับฝุ่น PM2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใส่อุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน PM2.5 ชนิด N95 โดยให้อยู่นอกอาคารให้สั้นที่สุด ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5 และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายมัญญา นาคพน หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา รายงานว่า ช่วงบ่ายวานนี้ (19 มีนาคม) พื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ได้รับแจ้งจากจุดสกัดป้องกันไฟป่าบ้านห้วยน้ำดิบว่าเกิดไฟป่าขึ้นในบริเวณป่าทางทิศตะวันนตกของที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา จึงนำกำลังพลเข้าดับไฟจนสำเร็จเมื่อเวลา 18.00 น. แต่ขณะถอนกำลังกลับจุดรวมพล นายอนุพงษ์ ปินตาสาม เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า ตำแหน่งบุคคลภายนอกช่วยปฏิบัติงาน ได้หมดสติจากอาการอ่อนเพลียจากการดับไฟ ที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวัน เพื่อนร่วมทีมทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอไชยปราการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูอาการภายในห้องฉุกเฉิน และรอรายงานจากแพทย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image