สงกรานต์ชาวมอญสังขละบุรี ประเพณีแห่งศรัทธา สรงน้ำพระผ่านรางไผ่ยาว 50 เมตร

ชาวมอญสังขละบุรี ร่วมพิธีสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่-สะพานมนุษย์ ประเพณีแห่งศรัทธา ชุ่มฉ่ำพร้อมรอยยิ้มประทับใจ

เมื่อวันที่ 16 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีชาวบ้านบ้านวังกะ และนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ของชาวไทยเชื้อสายมอญ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มอญสังขละบุรี ซึ่งการสรงน้ำพระของที่นี่ก็จะแตกต่างจากการสรงน้ำพระทั่วไป โดยการสรงน้ำพระของชาวมอญ จะสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาต่อเรียงกันกว่า 50 เมตร

โดยรางไม้นี้ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว แล้วนำมามัดรวมผูกต่อๆ กัน เพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ ในแต่ละรางจะมีสาขาแตกแผ่ออกไป เพื่อช่วยให้ผู้ที่มาร่วมงานได้สรงน้ำพระกันอย่างทั่วถึงและน้ำทุกรางจะไหลมาบรรจบที่รางหลักมายังพระภิกษุที่นั่งรอการสรงน้ำอยู่หลังของฉากดอกไม้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเพณีช่วงสงกรานต์ที่มากด้วยความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายมอญ

Advertisement

อีกทั้งยังมีขบวนพระสงฆ์เดินแถวออกมาจากองค์เจดีย์และเดินเหยียบไปบนหลังผู้ชายที่นอนราบกับพื้น โดยชาวมอญเชื่อว่าการอุทิศตนให้พระสงฆ์เหยียบหลังจะเป็นมงคลแก่ตัวเอง แม้ผู้ใดมีโรคภัย หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะหายจากอาการป่วยนั้น ซึ่งการทำสะพานมนุษย์ให้พระเหยียบเดินมาอาบน้ำทำสืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระอุดมมงคลหรือหลวงพ่ออุตตมะยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งการทำสะพานมนุษย์ให้พระเหยียบเดินมาอาบน้ำทำสืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระอุดมมงคลหรือหลวงพ่ออุตตมะยังมีชีวิตอยู่

สำหรับพิธีในวันที่ 4 หรือวันสรงน้ำพระ ตามแบบประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี ในช่วงบ่ายชาวบ้านจะทยอยเดินมาที่ลานหน้าเจดีย์พุทธคยา ในงานบุญเช่นนี้แต่ละคนจะแต่งตัวแบบจัดเต็ม โดยเฉพาะสาวๆ ที่จะแต่งตัวและแต่งหน้าสวยงาม ใส่เสื้อแขนยาวลูกไม้โปร่งสีสันสดใสและผ้านุ่งยาวกรอมเท้า ประดับร่างกายด้วยทองหยองตามกำลังของแต่ละคน ประหน้าทาแป้งด้วยทานาคา ยืนตรงรางไม้ไผ่ และตลอดทางไปยังเจดีย์

Advertisement

การสรงน้ำจะเริ่มขึ้นเมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปจากเจดีย์พุทธคยามาที่ปลายรางไม้ไผ่ ชาวบ้านก็จะเริ่มสรงน้ำพระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำปรุงลอยดอกไม้ จากนั้นพระสงฆ์จะเดินเรียงกันออกมาจากองค์เจดีย์ และเดินเหยียบไปบนหลังชายผู้มีศรัทธาที่นอนคว่ำเรียงรายกันเป็นแถวตั้งแต่องค์เจดีย์มาจนถึงปลายรางไม้ไผ่เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำทีละรูปๆ รูปใดสรงเสร็จแล้วจะมีชาวบ้านผู้ชายมาช่วยกันอุ้มกลับไปยังองค์เจดีย์ เมื่อสรงน้ำพระสงฆ์ครบทุกรูปแล้ว ชาวบ้านที่มารวมกันตรงลานหน้าเจดีย์จะนำน้ำในขันที่เหลือสาดขึ้นฟ้า และสาดกันเองทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่เป็นที่สนุกสนาน สร้างความชุ่มฉ่ำ สร้างรอยยิ้ม และความสนุกสนานเต็มไปทั่วทั้งลานวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image