อากาศร้อน ‘บึงหนองโคตร’ น้ำเน่า จนท.เผยต้นตอกลิ่น ชาวบ้านสุดทน ลั่นมีทุกปี

อากาศที่ร้อนจัดประกอบกับปริมาณน้ำที่เหลือน้อย ทำให้น้ำในบึงหนองโคตร ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำขนาดใหญ่ของเมืองขอนแก่น เกิดการเน่าเสียกลายเป็นสีเขียวขุ่น ส่งกลิ่นเหม็นเน่ารบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบึง ด้านเทศบาลตำบลบ้านเป็ด เร่งสูบตระไคร่น้ำที่เน่าเสียเพื่อกำจัดต้นเหตุของ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น น้ำรถสูบสิ่งปฏิกูลเข้าดูดสาหร่ายและตะไคร่น้ำสีเขียวที่ไหลมาทับถมกัน แหล่งกำเนิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้านและผู้ประกอบการร้านค้าที่อาศัยอยู่ใกล้กับบึงหนองโคตร แหล่งรองรับน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของตัวเมืองขอนแก่น

ภายหลังจากที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และประชาชนที่มาออกกำลังกายบริเวณริมบึงฯ ได้มีการร้องเรียนในโลกโซเชียลถึงผลกระทบที่ได้รับจากน้ำในบึงที่เน่าเสีย กลายเป็นสีเขียวขุ่น ยิ่งในช่วงนี้ที่สภาพอากาศร้อนจัด ประกอบกับปริมาณน้ำในบึงที่เหลือน้อย ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ อีกทั้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการกวาดตะไคร่น้ำที่เกาะกันเป็นก้อนให้เข้ามาที่ฝั่ง จากนั้นจึงใช้สายยางจากรถสูบเอาปฏิกูลไปทิ้ง โดยเริ่มวันนี้เป็นวันแรก

Advertisement

นางสาวเอ (นามสมมุติ) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับบึงหนองโคตร กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนของทุกปีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับบึงหนองโคตร ก็จะได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นเน่าของน้ำในบึง ยิ่งปีไหนที่น้ำในบึงเหลือน้อย ก็จะยิ่งทำให้น้ำเน่าเสียเร็วขึ้น เมื่อลมพัดเข้ามาก็จะเหม็นคละคลุ้งไปทั่วพื้นที่ สร้างมลภาวะทางอากาศให้กับชาวบ้าน และประชาชนที่มาวิ่งออกกำลังกายในช่วงเย็น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากน้ำเน่าเสียภายในบึงหนองโคตรไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2564 เทศบาลตำบลบ้านเป็ด เคยมีการวางนโยบายและกำหนดแนวทางแก้ไขในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำอีก โดยได้มีโครงการที่จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป็ด ก่อนปล่อยลงสู่บึงหนองโคตร ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการระยะหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบมีทั้งบ้านเรือน ร้านค้า และสถานประกอบการอยู่จำนวนมาก ซึ่งจะมีน้ำเสียจากร้านค้า ครัวเรือนไหลลงสู่บึง ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ส่วนหนึ่งจึงต้องขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ในระดับครัวเรือนและร้านค้าของตนเองอีกทางหนึ่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image