ราชบุรีแล้งหนักทั้งตำบล เงาะ ทุเรียน โกโก้ ยืนต้นตายเกือบทั้งสวน

ราชบุรีแล้งหนักทั้งตำบล เงาะ ทุเรียน โกโก้ ยืนต้นตายเกือบทั้งสวน  ชาวบ้านระดมเงินจ้างรถขุดเบ้าขนมครก หาแหล่งน้ำ 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาไฟป่าและภัยแล้งซ้ำซากทุกปี จากการสำรวจพื้นที่หลายหมู่บ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพปัญหาปีนี้ฝนทิ้งช่วง แม้อาสาสมัครฝนหลวงอำเภอปากท่อ ได้ประสานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เพื่อขอรับการสนับสนุนทำฝนหลวงช่วย แต่ติดปัญหาอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศและภูมิประเทศ บางจุดมีภูเขาสูงชัน เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เคยมาสำรวจพื้นที่แล้วพบว่าเป็นพื้นที่อับฝน อีกทั้งความชื้นไม่เพียงพอต่อการทำฝนเทียม ทำให้ยากต่อการบินขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้

ทำให้ขณะนี้พื้นที่ตำบลยางหักรวม 8 หมู่บ้าน และพื้นที่ตำบลห้วยยางโทน ได้รับผลกระทบ พืชผัก ผลไม้ทางการเกษตรเหี่ยวแห้งตายคาต้น โดยเฉพาะต้นทุเรียนนับร้อยต้น มีอายุ 4-7 ปี ในสวนของเกษตรกรหมู่ 5 ต.ยางหัก ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังออกดอก ติดลูกเริ่มร่วงหล่น ต้นมังคุด เงาะ ลองกอง กระท้อน สภาพใบแห้งเหี่ยวร่วงตายเกือบยกสวน เจ้าของสวนหลายคนกัดฟันทนสู้ใช้เงินไปว่าจ้างซื้อน้ำมารดต้นผลไม้ หวังให้พืชผลเหล่านั้นมีชีวิตรอดเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่สุดท้ายเงินหมด ไม่มีเงินจ้างรถน้ำก็ต้องปล่อยยืนต้นตายตามสภาพที่เห็น

Advertisement

นายวีระ บัวทอง อายุ 64 ปี เกษตรกร กล่าวว่า ปีนี้เกิดปัญหาภัยแล้งที่สุด อย่างทุเรียนออกลูกมาก็ร่วงหล่นจากอากาศที่ร้อนมากๆ ต่อไปต้นก็จะตายลงอีก คาดจะตายมากกว่า 30 ต้น และอยู่ระหว่างรอการตายอีกเป็นร้อยต้น น้ำในบ่อที่กักเก็บไว้ก็แห้งหมดแล้ว สู้ไม่ไหวจริงๆ อยากให้ภาครัฐช่วยทำฝนหลวงช่วยเหลือ ถ้ามาช่วยขุดเจาะบ่อบาดาลก็จะดีมาก ตอนนี้ผลไม้อื่นๆ ที่ปลูกไว้ประมาณ 20 ไร่ เสียหายไปเกือบทั้งสวน

Advertisement

ด้านนายอนุสรณ์ ฤทธิ์ล้ำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 กล่าวว่า ปกติเกิดภัยแล้งเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้แล้งมากขนาดน้ำที่เคยเก็บกักไว้ เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปีนี้มีการหวงน้ำ จากพื้นที่รวม 8 หมู่บ้าน รถส่วนกลางจะไปดูดน้ำเพื่อนำออกแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านก็ยังไม่ได้น้ำมาช่วย เพราะมีการหวงน้ำกัน บางจุดมีการดูดน้ำเพื่อมาหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ไว้ก็ยังไม่รู้ว่าจะรอดตายหรือไม่ ภาพรวมมีความเสียหายแน่นอน จากการสอบถามผู้ใหญ่หมู่บ้านเกิดปัญหาเหมือนกันทุกหมู่บ้าน ตอนนี้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้มาช่วย ถ้าความชื้นมากพอก็จะได้มีฝนมาช่วยเหลือ

ส่วนการแก้ไขระยะยาว อยากให้เกษตรกรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดเบ้าขนมครกเพื่อรองรับน้ำไว้ ที่ผ่านมาเห็นตะกอนทรายลงมาทับถมแหล่งน้ำเบ้าขนมครกที่เคยเก็บกักน้ำ ถ้ามีเบ้าเป็นขั้นบันไดลงไปทุกลำห้วยจะช่วยเหลือพื้นที่ระยะยาวได้ ซึ่งได้รับประสานงานและตอบรับจากสำนักงานทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทานที่จะเร่งดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน อีกส่วนเป็นสระเนื้อที่ 10 ไร่ บ้านไทยประจัน ของกรมทรัพยากรน้ำที่มีปัญหาน้ำแห้งขอด ขอให้ดำเนินการขุดลอกให้ลึกและกว้างมากขึ้น ตอนนี้เกษตรกรสิ้นหวังหมดแล้ว หลังจากเคยได้เงินจากการขายทุเรียนเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ฝันสลายไม่เหลือแม้แต่ต้น แทบจะตายหมดยกสวน

นางประทุม จิตจันทึก อายุ 63 ปี กล่าวว่า เคยมีปัญหาภัยแล้งแต่จะมีฝนตกมาเร็ว ปีนี้กลับไม่มีฝนตก มีแต่แดดแรงกว่าทุกปี ที่สวนคาดว่าน่าจะตายเกือบร้อยต้น ขณะที่ได้ลงทุนไปซื้อน้ำมารดต้นเงาะ ทุเรียน มังคุด โกโก้ ฝรั่ง กล้วย ยังมีผักกูดที่เก็บขายก็ตายหมด อยากให้หน่วยงานช่วยทำให้มีน้ำใช้

นายสมบัติ ชื่นสกุล ประธานผู้ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน กล่าวว่า ตอนนี้บ่อที่ใช้ทำน้ำประปาเปิดได้เพียงเวลาเดียวคือ เวลา 17.00 น. ส่วนประมาณ 18.00 น. น้ำหมดถังแล้ว อุปโภคได้อย่างเดียว บริโภคไม่ได้ มีชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือน แต่ใช้น้ำได้แค่ 100 ครัวเรือน มีปัญหาเรื่องน้ำบาดาลที่ตื้นเขิน ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาแก้ไข

นายพงษ์ทวี หนูจั่น ชาวสวนทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ร่วมกับเพื่อนบ้าน 3 ครอบครัวจ้างรถแบ๊กโฮชั่วโมงละ 1,800 บาท มาขุดเบ้าขนมครกเพื่อให้น้ำใต้ดินซึมออกมาใช้อุปโภคได้ เพราะน้ำในลำห้วยแห้งขอดมา 3 เดือนแล้ว โดยทั้งหมดรวมเงินจ้างรถมาขุด 3 ครัวเรือนแบ่งน้ำกันใช้เพื่อประคองต้นไม้ได้เล็กน้อย คาดว่าหลังขุดน้ำก็จะค่อยๆ ซึมออกมาทิ้งไว้ประมาณ 24-48 ชม. น่าจะดูดขึ้นมาใช้ได้ในระยะสั้นประมาณ 1-2 ชม. แล้วก็ต้องรอต่อรอบใหม่ให้น้ำออกมาเพิ่มอีก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image