ศรีศักร ประสานเสียงนักวิชาการ พา ‘Golden Boy’ กลับบุรีรัมย์ จ่อยื่นนายกฯ 13 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กลุ่มนักวิชาการประกอบด้วยตน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม และนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ เห็นพ้องกันว่าควรนำ Golden Boy กลับให้ถึงบ้านคือพื้นที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เพื่อเป็นการจุดพรุการกระจายอำนาจการจัดการทางวัฒนธรรมไปส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
โดย รศ.ศรีศักร ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ต้องมองเห็นบริบทพื้นที่ จะต้องมองให้เห็นแหล่งน้ำ การจัดการน้ำ แหล่งทรัพยากร ธรรมชาติ ป่าเขา เนินดิน เห็นร่องรอยต่างๆ ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงว่าใครเคยอยู่ตรงนั้น อยู่อาศัยอย่างไร เป็นชุมชน เป็นบ้านเมืองอย่างไร เข้าใจถึงยุคสมัย เวลา Time line ของการเปลี่ยนแปลง ระยะหนึ่งเป็นราชอาณาจักร ระยะหลังเป็นเมืองเล็กๆ กลับไปกลับมา ขึ้นๆ ลงๆ
นายวรา กล่าวว่า ต่อกรณี Golden Boy เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง และวัฒนธรรมร่วมต่างๆ Golden Boy พบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่เดี่ยวๆ หากแต่มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เชื่อมโยงกับปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เขาปลายบัด เขาอังคาร ปราสาทเมืองต่ำ ไปจนถึงศรีเทพ และเขมร
นายวรา กล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะมีสีสัน หากได้รับการเชื่อมโยง และไม่ถูกตัดตอน หรือใช้อำนาจใดมาครอบงำ อย่างกรณีที่ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ฉายให้เห็นการที่ Golden Boy เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่สมัยก่อนยังไม่ได้เป็นไทยหรือกัมพูชาในปัจจุบัน แต่คือที่ราบสูงโคราช กับที่ลุ่มโตนเลสาบ ซึ่งมีสายธารวัฒนธรรมร่วม จะตื่นเต้นแค่ไหนหากเรานำประวัติศาสตร์แบบเปิดใจมาให้เยาวชนศึกษา
นายวรา กล่าวว่า แค่คำถามว่า Golden Boy เป็นใคร ก็เป็นเครื่องที่จะชี้ให้เราสาวย่านโยงวัฒนธรรมได้แบบตื่นตาตื่นใจ ดังที่ทนงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า จะตอบคำถามว่า Golden Boy เป็นใคร ก็ต้องไปเทียบเคียงกับประติมากรรมสำริดรูปเคารพบุคคลศิลปะแบบบาปวน ซึ่งพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร และสันนิษฐานว่ารูปเคารพองค์นี้อาจเป็นรูปเหมือนหรือรูปสนองพระองค์ของพระองค์ โดยพระโอรสคือพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เป็นผู้สร้างให้ โดยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 สร้างปราสาทบาปวน (ตั้งอยู่ในเมืองยโสธรปุระ ทางด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัด) อันเป็นที่มาของการเรียกรูปแบบศิลปะบาปวนตามชื่อปราสาทประจำรัชกาล เมื่อประติมากรรมสำริดรูปเคารพบุคคลปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นศิลปะแบบบาปวน จึงสันนิษฐานว่าเป็นรูปเหมือนหรือรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งลูก(พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2) สร้างให้พ่อ
นายวรา กล่าวว่า แต่ในกรณี Golen Boy รูปแบบศิลปะไม่ใช่บาปวน แต่ไปเหมือนลวดลายในปราสาทหินพิมาย ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นราชวงศ์มหิธรปุระ โดยในจารึกปราสาทพนมรุ้งระบุว่าถิ่นฐานเดิมของพระองค์อยู่ที่กษิติณทราคาม ซึ่งเดิมนักวิชาการไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน จนมาพบ Golen Boy ที่บ้านยาง ละหานทรายซึ่งอยู่ห่างจากพนมรุ้งประมาณสิบกว่ากิโล จึงสันนิษฐานว่า Golen Boy น่าจะเป็นรูปเคารพของพระองค์ เพราะเป็นศิลปะแบบพิมาย โดยเทียบเคียงกับลวดลายของปราสาทพิมายเป็นหลัก
นายวรา กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์ก่อนการขีดเส้นพรมแดนไทยกัมพูชา ในอดีตเราต่างมีวัฒนธรรมร่วม มีความเจริญทั้งสองดินแดน ปราสาทนครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสร้างโดยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ซึ่งก็คือหลานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เนื่องจากเป็นลูกของพี่สาวซึ่งไปแต่งงานกับกลุ่มวัฒนธรรมเขมรที่อยู่ข้างล่าง
นายวรา กล่าวว่า ทั้งพิมายซึ่งสร้างบนที่ราบสูงโคราช กับที่ลุ่มโตนเลสาบในกัมพูชาปัจจุบัน มีวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่นพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 สร้างปราสาทบึงเมียเลียให้แม่เพื่อถวายพระพุทธเจ้า วงศ์มหิธรปุระนี้เชื่อมโยงมาถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นเหลนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับปราสาทหินพิมายที่มีหลักฐานว่านับถือพุทธ โดยเราพบรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มานั่งไหว้ปราสาทหินพิมายซึ่งทวด(พระเจ้าชัยวรมันที่ 6) สร้าง ในปรางค์พรหมทัต (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินพิมาย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย)
นายวรา กล่าวว่า สรุปว่า ‘ที่กล่าวมาทั้งหมด หากเราจะพูดถึงซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ศิลปวัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความตระหนัก ความภูมิใจ และอัตลักษณ์ ของคนท้องถิ่น รวมถึงความภูมิใจในประวัติศาสตร์บ้านเมืองที่สืบสานเบ่งบานต่อเนื่องมามากกว่าการจำกัดการรับรู้แบบท่องจำขังคอกอยู่แค่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ หากรัฐบาลคิดจะสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ควรนำเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมมาสร้างชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยผมเสนอว่าแม้ Golden Boy จะถูกคืนกลับเมืองไทยแล้ว แต่ท่านยังไม่ถึงบ้าน เราควรพาท่านกลับบุรีรัมย์ เพื่อเป็นการจุดพรุการกระจายอำนาจการจัดการทางวัฒนธรรมไปส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน’ โดยเขาและคณะจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้พา Golden Boy กลับบุรีรัมย์ ในวันพฤหัสสบดี ที่ 13 พฤษภาคมจะถึงนี้