กรมศิลป์ สั่งรื้ออาคารที่พักสงฆ์ปลูกคร่อมทับปราสาทหินพันปี ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ โบราณวัตถุหายหลายรายการ
นครราชสีมา – ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา รวมตัวทวงคืนปราสาทหินโบราณอายุนับพันปี หลังจากที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทได้เข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถาน สร้างอาคารปฏิบัติธรรมคร่อมทับลงกลางตัวปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ จนกรมศิลปากร มีคำสั่งลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ให้รื้ออาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ปลูกสร้างในพื้นที่โบราณสถานออก เพราะก่อสร้างโดยไม่ขออนุญาตอธิบดีกรมศิลปากร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ 12 มิถุนายน ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมด้วย นางสาวเบญจวรรณ พลประเสริฐ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย ได้เข้าตรวจสอบโบราณวัตถุ และบริเวณที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท
โดยพบว่า ศาสนสถานปราสาทบ้านลุงตะเคียน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นอาคาร 3 หลัง อยู่ในสภาพพังทลาย ก้อนหินขนาดใหญ่ในภาพถ่ายของชาวบ้านเมื่อครั้งอดีต ได้ถูกเคลื่อนย้ายนำมากองไว้บริเวณด้านข้างศาลาปฏิบัติธรรม เหลือเพียงห้องครรภคฤห์
ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานแท่นประทับและประติมากรรมรูปเคารพบุคคล ซึ่งจากการตรวจสอบตามภาพถ่ายของนักโบราณคดีเมื่อครั้งเข้ามาสำรวจก่อนขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ไม่พบแผ่นหินที่วางอยู่บนแท่น รวมถึง ประติมากรรมรูปเคารพได้หายไป ยังหาไม่เจอ โดยที่พักสงฆ์ได้นำรูปเคารพที่คาดว่า เป็นปู่ฤาษี มาวางแทนที่
นอกจากนี้ หินสลักปลายหน้าบันที่อยู่ภายในห้อง ก็ถูกเคลื่อนย้ายไปวางอยู่บริเวณเนินดินด้านข้างตัวประสาททางทิศใต้ สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้แจ้งความไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการรื้อถอนอาคารตามคำสั่งอธิบดี กรมศิลปากร ยังอยู่ระหว่างการขอคำสั่งศาลและขอเข้าใช้พื้นที่ เนื่องจากยังมีพื้นที่บางส่วนที่อยู่ในระหว่างข้อพิพาททางที่ดิน จึงต้องกำหนดขอบเขตการเข้าพื้นที่รื้อถอนให้ชัดเจน