ปลาหมอคางดำ อีกหนึ่ง ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ ภัยร้ายในแหล่งน้ำต้องรีบกำจัดก่อนจะสาย ทำลายสัตว์น้ำสูญพันธุ์
จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นที่ราบลุ่มริมทะเล แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านคือแม่น้ำแม่กลอง มีลำคลอง 338 คลอง 1,947 ลำประโดง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ส่งผลต่อวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมีอาชีพที่หลากหลายทั้งอาชีพทำสวน และอาชีพประมง กระทั่งเมื่อกว่า 10 ปี เกิดปัญหาปลาหมอคางดำระบาดในจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนจะระบาดไปหลายจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก กระทั่งล่าสุดชาวบ้านเริ่มพบในพื้นที่ภาคใต้ นครศรีธรรมราช-สุราษฏร์ธานี-สงขลา สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก
นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งเคยเป็นเกษตกรนากุ้ง กล่าวถึงปลาหมอคางดำว่า เริ่มระบาดเข้ามาที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามประมาณ ปี 2554 ตอนนั้นตนมีอาชีพเลี้ยงกุ้ง แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าปลาอะไรปะปนกับกุ้งประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านพูดกันปากต่อปากว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งนำปลาพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่เพาะเลี้ยงจ.สมุทรสงคราม เนื่องจากช่วงนั้นการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในการเพาะเลี้ยงตายจำนวนมาก จึงหาวิธีแก้ปัญหา มีผู้แนะนำให้ทดลองนำ “ปลาหมอคางดำ” จากทวีปแอฟริกา มาช่วยพัฒนาสายพันธุ์เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยนำเข้ามาล็อตแรกประมาณ 2,000 ตัว สุดท้ายได้กระจายลงแหล่งน้ำธรรมชาติสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งทั้งแบบพัฒนาคือการซื้อลูกกุ้งมาปล่อยในบ่อเลี้ยง และเลี้ยงแบบธรรมชาติคือการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ช่วงนั้นนอกจากกุ้งที่เลี้ยงไว้การจับเริ่มน้อยลงแล้วสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่เคยชุกชุมก็เริ่มหายากขึ้น และชาวบ้านก็มีการนำปลาหมอคางดำมาทำกินแต่เนื้อปลาไม่อร่อยและก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยม ตอนนั้นเครือข่าย 4 อำเภอ 2 จังหวัด คือ อ.เมืองสมุทรสงคราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม อ.บ้านแหลม และ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เริ่มออกมาเคลื่อนไหวโดยไปร้อง เรื่องการละเมิดสิทธิ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่าร้องกันจนเสียงแห้ง กรณี “ผู้ใดก่อมลพิษผู้นั้นต้องรับผิดชอบ” โชคยังดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เรียกกรมประมงเข้าหารือกับทุกภาคส่วน จนทราบว่ามีต้นตอมาจากบริษัทใหญ่ อ้างว่านำเข้าปลาหมอคางดำจริง ขออนุญาตในปี 2549 และในปี 2553 ปลาที่นำเข้ามาทั้ง 2,000 ตัวนั้นได้ทำลายโดยฝังกลบแล้ว แต่ในปี 2554 พบปลาหมอคางดำอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเริ่มระบาดก็ไม่ได้ออกมารับผิดชอบใดๆ
“บทสรุปคราวนั้นคือ ชาวบ้านเสนอให้กรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำ เริ่มระบาดกิโลกรัมละ 20 บาทเพื่อเยียวยาและสร้างแรงจูงใจให้มีการจับปลาหมอคางดำมาขาย เพราะตอนนั้นระบาดแค่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด โดยเปรียบเสมือนข้าว 4 ชาม ใช้งบกวาดล้างตอนนั้นก็ไม่มาก จับให้หมดอย่าให้เหลือข้าวในชามแม้แต่เม็ดเดียว เพราะถ้าปล่อยไว้ก็แพร่พันธุ์มากขึ้นและรวดเร็วมาก ปลาชนิดนี้ออกไข่ทุก 22 วัน ปลา 1 คู่ออกลูก 6 ล้านตัวภายใน 1 ปี ทำให้ทั้งพ่อแม่ปลาไม่สร้างโปรตีน ก้างจึงแข็งเนื้อน้อยวนเวียนกันอยู่แบบนี้”
ต่อมาจึงเสนออีกแนวทางให้กรมประมง เลี้ยงปลานักล่า เช่น ปลากะพง ปลากุเลา ฯลฯ เพื่อปล่อยกินลูกปลาหมอคางดำ เพราะตอนนั้นการรับซื้อของกรมประมงเป็นช่วงสั้น ๆ พอหมดเงินปลาหมอคางดำก็กลับมาเยอะอีก จากนั้นก็มีแต่การแก้ปัญหาเป็นช่วงๆเหมือนจัดอีเวนท์ จนตอนนี้กว่า 10 ปีแล้ว จ.สมุทรสงคราม มีการระบาดกระจายไป 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และปัจจุบันยังขยายไป 14 จังหวัดอื่นๆทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตอนที่ระบาดน้อย 2 จังหวัดไม่ได้ทำจริงจัง อีกทั้งบริษัทต้นเหตุก็ไม่ออกมารับผิดชอบใดๆ เพราะขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบระบบนิเวศ เพราะปลาหมอคางดำกินทั้งลูกกุ้งลูกปลาทำให้ “ปลาท้องถิ่น” เริ่มลดน้อยหายไป เช่น ปลาหมอเทศ ส่วนปลากระบอก ที่เคยชุกชุมก็หายากขึ้น ส่วนบ่อปลาสลิด ตอนนี้ก็พบว่ามีปลาหมอคางดำเข้าไปปะปนแล้ว
ส่วน สาเหตุ ที่ปลาหมอคางดำเริ่มแพร่ระบาดไปยังภาคใต้นั้น นายปัญญา บอกว่า ปลาหมอคางดำขยายพันธุ์เร็ว โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่เลี้ยงลูก ส่วนตัวเมียไม่อมไข่จึงออกลูกได้เรื่อยๆ เพราะไม่ต้องเลี้ยงลูก พฤติกรรมนี้ทำให้ปลาสืบพันธุ์วางไข่ได้รวดเร็ว ทำให้ขยายพันธุ์และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และปลาชนิดนี้อยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม รวมถึงน้ำคุณภาพต่ำ ชอบที่สุดคือน้ำกร่อย จึงน่าจะว่ายลัดเลาะชายฝั่งและขยายพันธุ์ตามป่าชายเลน ตามธรรมชาติ แต่จะไม่ลงไปในทะเลลึกหรือพื้นที่ดินทราย
สำหรับการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำนั้น นายปัญญา บอกว่า อันดับแรกภาครัฐต้องจริงใจก่อน อย่าคิดแทนชาวบ้านแต่ให้คิดร่วมกันให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมหรือกำหนดให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเป็น “วาระแห่งชาติ” หน้าที่ของกรมประมงคือการกำจัดปลาหมอคางดำไม่ต้องยุ่งกับเรื่องแปรรูปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และต้องจับมือกับบริษัทใหญ่ต้นเหตุให้มาร่วมรับผิดชอบเพราะได้นำเข้ามาแล้วละเมิดสิทธิ์ชาวบ้านก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย รับซื้อปลาที่ได้กลับไป ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย จนทำลายระบบนิเวศพันธุ์ปลาท้องถิ่นลดน้อยถึงขั้นสูญพันธุ์ได้
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงปัญหาปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ว่า ภาครัฐได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมทั้งภาครัฐ ชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประชุมหารือระดับจังหวัดทุกจังหวัด เบื้องต้นได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการร่วมกับชาวบ้าน ลงแขกลงคลอง และอาจจะมีการนําเสนอเครื่องมือที่จะมากําจัดปลาหมอคางดำเพิ่มเติม รวมทั้งนำเสนอแผนการรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 20 บาทให้คณะทำงานชุดใหญ่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา
นายบัณฑิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงและประมง จ.สมุทรสงครามได้จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 ที่คลองสัมมะงา คลองสาธารณะ หมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง โดยร่วมกับชาวบ้านลากอวน หว่านแห จับปลาหมอคางดำ เพื่อพื้นฟูระบบนิเวศคืนความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งนั้นได้ปลาหมอคางดำ 31 กก.จากนั้นได้ทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบันรวม 10 ครั้ง ได้ปลาหมอคางดำ รวม 704.8 กิโลกรัม นำไปใช้ประโยชน์ทำปุ๋ยหมักและบางส่วนนำไปแปรรูป
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจับปลาหมอคางดำเพื่อการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างสรรค์เมนูอาหารรูปแบบใหม่ๆ เช่นปลาแดดเดียวออกขาย เป็นรายได้เพิ่มให้กับชุมชนเพื่อจูงใจให้มีการจับปลาหมอคางดำให้มากขึ้นควบคู่ไปกับกิจกรรมลงแขกลงคลอง นอกจากนี้ยังมีการปล่อยสัตว์น้ำผู้ล่าหรือปลากะพงต่อเนื่อง
สำหรับ ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศมอริทาเนีย ถึงประเทศแคเมอรูน ส่วนประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เริ่มมีการรายงานช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 และพบการแพร่ระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลแบบกึ่งพัฒนาในเขต จ.สมุทรสงคราม จากนั้นช่วงปี พ.ศ.2563 – 2564 พบมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้นรวม 7 จังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และจากการรวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ.2566 พบมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีก 7 จังหวัดรวมเป็น 13 จังหวัด ประกอบด้วยภาคตะวันออกได้แก่ จันทบุรีและระยอง ภาคกลางได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ บริเวณพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา
และนี่เป็นอีกหนึ่ง “เอเลี่ยนสปีชีส์” ภัยร้ายทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ที่ต้องรีบกำจัด ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ก่อนจะสายลุกลามบานปลาย ทำลายระบบนิเวศพันธุ์ปลาท้องถิ่นจนสูญพันธุ์