ส.รักษ์ทะเลไทย เห็นด้วยมาตรการกำจัดหมอคางดำ แต่ติงรบ.ไม่พูดถึงผู้ที่เป็นต้นเหตุการระบาด
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม จากการที่โฆษกรัฐบาลแถลงถึงมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางทางในการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยระบุว่าได้มีการหารือร่วมกับนายกสมาคมประมง นายกสมาคมผู้เพาะพันธุ์ เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและวางแผนในการแก้ไขปัญหา โดยตกผลึกเป็นมาตรการ 7 ข้อ ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งปัญหาปลาหมอคางดำจะจบสิ้นและหมดไปจริงๆ ในปี 2570 โดยจากนี้จะค่อยๆ ลดไปตามลำดับนั้น
นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ประเด็นแรก เห็นด้วยกับมาตรการที่รัฐบาลออกมา แม้จะล่าช้าไปกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งจากการกดดันของสังคม เพราะกรณีปลาหมอคางดำนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ และกระทบกับประชาชนส่วนมาก แต่แม้จะเห็นด้วยก็มีข้อสังเกต 3 เรื่อง ในแง่มาตรการ คือในประเด็น การกำหนดปลานักล่าที่ดูเหมือนจะเฉพาะเจาะจงไปที่ปลากะพง นั่นมองให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ศึกษาสภาวะแวดล้อม ที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำที่มีทั้งในน้ำกร่อย และน้ำจืด นักล่าจึงไม่ควรระบุเฉพาะปลากะพงขาว แต่อาจจะมีทั้งปลาชะโด ปลาช่อน หรือปลาอื่นๆ ตามสภาวะการระบาดของแต่ละที่ การกำหนดปลาผู้ล่า ไม่ควรจะให้กรมประมงทำฝ่ายเดียว ชุมชนแต่ละพื้นที่ที่มีการระบาด ควรจะได้เข้ามามีส่วนร่วม และมีความหลากหลายของปลาผู้ล่า
นายบรรจงกล่าวว่า นอกจากนั้นในมาตรการ การป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง เป็นการนำเสนอแค่นั้น ซึ่งจริงๆ ควรจะเป็นมาตรการสำคัญที่ควรจะชี้แจงว่า มีมาตรการใดบ้าง จะทำอะไรบ้าง ในการป้องกันการแพร่กระจายไปในแหล่งน้ำข้างเคียง ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลควรจะมีความชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ข้อสังเกตสำคัญคือ รัฐบาลไม่ได้พูดถึง ความรับผิดชอบของส่วนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่สร้างปัญหาในหลายจังหวัดอยู่ในขณะนี้ ในแง่กฎหมายสิ่งแวดล้อม ใครกระทำการให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยหากไม่มีการพูดถึงผู้ที่กระทำให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ในอนาคตก็อาจจะมีกรณีนี้ลักษณะนี้ซ้ำอีก โดยงบประมาณ 450 ล้านบาท ควรจะเป็นเรื่องที่ผู้ก่อปัญหาต้องรับภาระในกรณีที่เกิดขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
“ผมมองเรื่องเรื่องนี้ไม่มีทางจะจบใน 3 เดือน 6 เดือน ดังนั้นทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอีกหลายฝ่ายไม่ใช่เฉพาะกรมประมงอย่างเดียว โดยละเลยการมีส่วนร่วมของชุมชน แนวทางที่จะดำเนินการนั้นทำอย่างไรจึงจะนำไปปฏิบัติได้จริง กำหนดเป็นนโยบาย จะให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้างได้อย่างไร มองว่าการแก้ปัญหาการแพร่ขยายของปลาหมอคางดำ ควรจะผ่านระบบการมีส่วนร่วมที่เข้มข้น ไม่ใช่ใช้งบประมาณไปกับกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม หน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงควรจะเปิดมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาให้ชัดเจน ให้ประชาชนรับรู้ แสดงความเห็น เสนอแนะ ก่อนนำไปสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง” นายบรรจงกล่าว
นายภชรพล สังขไพฑูรย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การใช้งบประมาณ 450 ล้าน ใน 3 ปี สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำนั้นประเมินว่าน่าจะไม่เพียงพอต่อการใช้ 7 มาตรการ ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้ลดน้อยลง เพราะขณะนี้ มีการระบาดขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนมาตรการทั้ง 7 มาตรการควรจะทำเป็นลำดับ อาทิ การเร่งจับปลาขึ้นมาจากแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อปลาลดน้อย ก็ส่งปลาผู้ล่าลงไปกำจัด
“ผมมองว่าเรื่องมาตรการการให้ความรู้ เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนเพราะคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์เยอะทำให้ขยายพื้นที่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นำปลาหมอคางดำไปเป็นเหยื่อปลากะพง ด้วยการสับให้กิน โดยยังมีไข่อยู่ในปากตัวผู้ การนำปลาหมอคางดำไปตากแห้ง แต่ตัดหัวปลาทิ้งลงคลอง เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น เรื่องให้ความรู้แก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำก่อน อย่างเร่งด่วน ส่วนการจับปลาหมอคางดำออกจากคลอง วิธีที่ดีที่สุด ควรจะใช้มืออาชีพ ซึ่งเป็นการว่าจ้าง สร้างรายได้ให้กับมืออาชีพในการล่าปลาหมอคางดำ ซึ่งจะได้ปริมาณมากและรวดเร็ว” นายภชรพลกล่าว
นายภชรพลกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นก็ควรที่จะให้ภาคเอกชน นำปลาหมอคางดำไปแปรรูป พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนกินปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด ส่วนการป้องกันการแพร่กระจาย ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะให้ทุกจังหวัดสำรวจและทำสายน้ำต่างๆ ที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นพื้นที่สีแดง กำหนดพื้นที่กันชน เพื่อเฝ้าระวังการระบาด ส่วนมาตรการสุดท้าย กรมประมงต้องใช้งบประมาณมาก ในการปล่อยปลาพื้นถิ่นกลับสู่ธรรมชาติ แต่ควรจะทำหลังจากปลาหมอคางดำลดน้อยลง
นายภชรพลกล่าวว่า อยากจะเสริมมาตรการที่ยังไม่มี ก็คือ ในกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในระบบปิดที่มีบ่อพักน้ำ ที่ขณะนี้มีปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก อยากจะให้รัฐบาลควรจะจัดหากากชาให้กับเกษตรกรในบ่อพักบ่อกุ้ง นำมากำจัดปลาหมอคางดำ โดยขอให้รีบทำโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามทุกมาตรการจะให้สำเร็จได้ โดยภาคราชการฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้ ต้องมีภาคประชาสังคมเป็นแกนหลัก ภาคเอกชนมาช่วยในการนำปลาหมอคางดำไปทำประโยชน์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะไปไล่ว่าใครเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นความผิดของใคร ก็ควรต้องดูแลชดเชยความเสียหายในส่วนนี้ หากรัฐบาลทำได้หาต้นตอได้เมื่อไหร่ ก็ต้องรับภาระในงบประมาณส่วนนี้ไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประมงกว่าพันคน รวมกลุ่ม ยื่นฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายเอกชน ชดใช้นำเข้าหมอคางดำ กระทบอาชีพทำกิน
- อนุกมธ.หมอคางดำ ซัด กรมประมง เมินความเดือดร้อนปชช. ไร้เอกสารแจงความเสียหาย ‘ณัฐชา’ เผย 15 ส.ค.สรุปผล
- ชาวบ้านรอยต่อสุดเซ็ง ปลาเอเลี่ยนเต็มคลอง 2 ตำบล 2 จังหวัด หลังทดลองทอดแหเจอแต่หมอคางดำ
- ชลประทานเปิดประตูระบายน้ำปล่อยหมอคางดำทิ้งทะเลปากอ่าวบางปะกง ชาวบ้านหวั่นไประบาดในป่าชายเลนต่อ