ผงะ! ปลาหมอสี มีเขี้ยวคม ยังแพ้ ‘คางดำ’ ถูกเขมือบ แทบหายเกลี้ยงหมดคลอง

ผงะ! ปลาหมอสี มีเขี้ยวคม ยังแพ้ ‘คางดำ’ ถูกเขมือบ แทบหายเกลี้ยงหมดคลอง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสุทธิ ศิลาลาศ อายุ 72 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.บางปะกง ไม่เคยมีปลาหมอคางดำระบาดเข้ามาในพื้นที่มาก่อน โดยเดิมนั้นมีแต่ปลาหมอสีเท่านั้นที่ระบาดเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำและลำคลองในพื้นที่ แต่หลังจากทำนบประตูน้ำท่าถั่วปากคลองประเวศบุรีรมย์พัง มีน้ำเค็มไหลทะลักเข้ามาและมีการสูบระบายทิ้งออกสู่ทะเล ที่ประตูน้ำในบริเวณนี้จึงเริ่มพบเห็นปลาหมอคางดำเข้ามาในพื้นที่ และเริ่มมีจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันปลาหมอสีกลับพบเห็นได้น้อยลง หลังจากที่มีปลาหมอคางดำระบาดเข้ามา

โดยการระบาดของปลาหมอสีนั้นมีกระบวนกำจัดออกไปจากแหล่งน้ำกันเองภายในชุมชน หลังจากที่มีชาวบ้านดักลอบหรือยกยอได้ จะมีเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปูเข้ามารับซื้อนำไปทำอาหารให้ปูทะเลกินจนหมด จึงทำให้การระบาดไม่รุนแรง หรือมีผลกระทบต่อปลาชนิดอื่นๆ มากนัก แต่ในขณะนี้ปลาหมอสีเริ่มหายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือมีการตัดตอนกันไปอย่างไรกับปลาหมอคางดำนั้นไม่ทราบ จึงทำให้ปลาหมอสีมีไม่เพียงพอที่จะขายให้แก่ผู้ทำอาชีพเหมืองปูทะเล จากเดิมนั้นคนหาปลาเคยดักปลาหมอสีได้ในแต่ละวันนั้นมีมากนับสิบกิโลกรัมต่อวัน แต่มาถึงวันนี้แทบไม่มีปลาหมอสีเข้ามาติดอยู่ในยอแล้ว

Advertisement

ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ประกาศ 7 มาตรการ เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำตั้งแต่ต้นเดือนมานั้น ความเห็นส่วนตัวคิดว่ายากที่จะกำจัดให้หมดไป หากจะกำจัดให้สิ้นซากแบบไม่ให้หลงเหลือเลยนั้นต้องล้างกันทั้งบาง ทั้งคลองเล็กคลองน้อย ด้วยการสูบน้ำทิ้งให้หมดแล้วปิดตายลำคลอง จากนั้นใช้สารเคมีบางชนิดที่เคยเป็นข่าวดังมากำจัด เนื่องจากหากสูบน้ำหมดคลองแล้ว แต่ยังมีแอ่งน้ำหลงเหลือแค่เพียงเล็กน้อยที่ลูกปลาหรือไข่ปลาหมอคางดำยังพอหลบซ่อนอยู่ได้ ปลาหมอคางดำก็จะยังไม่ตาย และจะกลับมาขยายพันธุ์ได้ใหม่อีก จึงต้องใช้สารเคมีดังกล่าวมากำจัดร่วมด้วย โดยในอดีตนั้นเกษตรกรก็เคยทำกันมาในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป ถือเป็นการล้างบางอย่างสิ้นซาก รวมถึงสัตว์น้ำและปลาชนิดอื่นๆ ด้วย

Advertisement

ส่วนการใช้วิธีอื่นนั้น เห็นมีแต่เพียงการปล่อยปลากะพงเท่านั้นที่จะช่วยกำจัดได้ แต่จะไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้อย่างสิ้นซากเช่นเดียวกัน อีกทั้งปลากะพงก็ยังมีข้อจำกัดมาก หากคุณภาพน้ำในคลองไม่ดีก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ปลาหมอคางดำทนอยู่ในน้ำเสียได้ จึงทำให้ปลากะพงไม่เข้าไปกินและอยู่แต่ในลำคลองกว้างๆ หากคลองเล็กๆ ปลากะพงจะไม่เข้าไป หากเข้าไปก็ต้องตาย แต่ปลาหมอคางดำอยู่ได้ในคลองเล็กๆ คุณภาพน้ำต่ำ ทั้งยังอยู่ได้ในทุกที่ทุกแหล่งน้ำทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด จึงทำให้ทิศทางในการกำจัดปลาหมอคางดำที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้น่าจะหมดไปได้ยาก ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ ต.สองคลอง จะสามารถพบเห็นปลาหมอคางดำได้ทั้งทางด้านฝั่งน้ำเค็มและฝั่งน้ำจืด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image