พระพุทธรูป อายุกว่า 300 ปี ร้าว เผยองค์ศิลาแลงซ่อนอยู่ด้านใน กรมศิลป์ ชี้ ฝีมือช่างโบราณ “โกลนพระ”
ตามที่เพจวัดโคกขาม จ.สมุทรสาคร ได้เผยแพร่ภาพพระพุทธรูปในอุโบสถเก่าอายุกว่า 300 ปี สมัยกรุงศรีอยุธยา(แต่ปัจจุบันคือ วิหาร ) เกิดรอยแตกร้าวที่องค์พระบางส่วน จนทำให้เห็นว่า ด้านในขององค์พระนั้น มีพระพุทธรูปอีกองค์ซ่อนอยู่
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดโคกขาม จ.สมุทรสาคร หลังทราบว่าพระพุทธรูปเกิดการแตกร้าวจำนวน 3 องค์ ประกอบด้วย พระประธาน 1 องค์ และ พระพุทธรูปรอบพระประธานอีก 2 องค์ โดยรวมพระพุทธรูปเหล่านี้ชาวบ้านเรียกกันมาแต่อดีตว่า “8 อรหันต์” ซึ่งชิ้นส่วนที่แตกร้าว ตกไปอยู่ที่ฐานพระและไม่มีการหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายใดๆ ส่วนด้านในองค์พระ 2 องค์ที่อยู่รอบพระประธานแล้วเกิดการแตกร้าวนั้น สังเกตพบว่าเหมือนมีพระพุทธรูปอีกองค์ซ้อนอยู่ด้านใน ซึ่งมีลักษณะคล้ายศิลาแลง โดยจะเห็นเศียรพระพุทธรูปอย่างชัดเจน
จากการสอบถามพระลูกวัดโคกขาม และศิษยานุศิษย์ เล่าว่า พระพุทธรูปร้าวเมื่อราวต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และได้มีการสังเกตเห็นว่า มีพระพุทธรูปอีกองค์อยู่ด้านในองค์พระที่แตกร้าว จึงแจ้งไปยังกรมศิลปากรเนื่องจากโบสถ์เก่า หรือวิหารแห่งนี้มีอายุกว่า 300 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี โดยเบื้องต้นได้แจ้งให้ทางกรมศิลปากรทราบแล้ว ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า การสร้างพระลักษณะนี้ มักจะพบอยู่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าการ “โกลนพระ” โดยองค์พระที่อยู่ด้านในก็จะมีลักษณะใบหน้า รูปร่าง เหมือนกับองค์ที่เห็นอยู่ด้านนอกทุกประการ เพียงแต่ความคมชัดจะต่างกันเท่านั้น องค์ที่อยู่ด้านในจะคมชัดน้อยกว่าองค์ที่อยู่ด้านนอก ซึ่งหลังจากนี้จะเข้ามาสำรวจเพื่อวางแผนบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์ต่อไป
สำหรับพระพุทธรูปที่อยู่รอบพระประธานในโบสถ์แห่งนี้ ล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่อยู่คู่กับโบสถ์มานานกว่า 300 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จึงมีรอยแตกร้าว เพราะหากเทียบกับอายุของโบสถ์เก่าหลังนี้ก็มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2222 จึงเกิดความชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งหลังจากนี้ทางพระครูสาครรัตนาภรณ์ เจ้าคณะตำบลมหาชัย เจ้าอาวาสวัดโคกขาม ได้สั่งให้ทำที่กั้นกันคนเข้าไปดูองค์พระแบบใกล้ๆ เพราะหวั่นว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม พร้อมกันนี้ยังได้ของดเว้นการปิดทอง การถวายดอกไม้พวงมาลัยที่องค์พระ เพื่อรอการซ่อมแซมอนุรักษ์จากกรมศิลปากรก่อน แต่ยังเปิดวิหารให้กราบไหว้ได้เช่นเดิม