ศูนย์เด็กเล็กงบกว่า 2.4 ล้าน สร้างมา 6 ปีไม่ได้ใช้ประโยชน์ กังขารับฟัง ปชช.ถูกตาม กม.หรือไม่

เสียดายงบ ศูนย์เด็กเล็กถูกปล่อยทิ้งร้าง ฝ้าหลุดร่วง กลายเป็นที่อยู่อาศัยของนก สร้างมา 6 ปีไม่มีเด็กเข้าเรียนแม้แต่คนเดียว เสียงบประมาณก่อสร้างกว่า 2 ล้าน

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล หมู่ 15 ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พร้อมกับ นายสุภณัฐ ศิริทอง ผอ.กลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สนง.ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สุรินทร์ นายวินัย ดาสั่ว นายก อบต.สะกาด ตัวแทนนายอำเภอสังขะ พร้อมด้วยส่วนงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในพื้นที่หมู่ 6, หมู่ 15 หลังเพจเฟซบุ๊ก “ปฏิบัติการณ์หมาเฝ้าบ้าน” เปิดเผยว่า “ศูนย์เด็กเล็กบ้านอำปีล” ปี 61 อบต.สะกาด จ.สุรินทร์ ใช้เงิน 1,798,000 บาท สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขนาดไม่เกิน 50 คน สร้างเสร็จยังไม่เปิดใช้ ผ่านมาสองปีทำรั้วเพิ่มอีกสามแสนสอง อาคารมีแล้ว รั้วก็มีแล้ว แต่ไม่เคยเปิดใช้งานเลยสักครั้ง เหตุเพราะใกล้แหล่งน้ำ ผู้ปกครองเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ปล่อยทิ้งเกือบหกปี ฝ้าหลุดร่วงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของนก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

จากการตรวจสอบพบว่า รอบอาคารมีต้นไม้ใบหญ้าปกคลุมแทบจะเป็นป่า ฝ้าเพดานด้านนอกและในตัวอาคารหลุดร่วงลงมากองกับพื้น บางส่วนห้อยอยู่ มีนกเข้ามาทำรังจำนวนมาก ทั้งยังขี้จนทับถอเป็นกอง ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วอาคาร

Advertisement

จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน ตั้งแต่ก่อสร้างปี 2561 ถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอน เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียน เพราะกลัวไม่ปลอดภัย เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างจริงๆ ตามที่มีมติในที่ประชุมตกลงกันคือจะต้องก่อสร้างที่บ้านอำปึล หมู่ 6 ที่เป็นแหล่งชุมชน ไม่ใช่บ้านอำปึล หมู่ 15 ที่อยู่ห่างชุมชนและเป็นหมู่บ้านท้ายสุดติดกับตำบลอื่น และยังข้องใจว่าทำไมถึงได้มีการเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างและไม่มีใครทราบอีกด้วย

นายวินัย นายก อบต.สะกาด กล่าวว่า เพิ่งมารับตำแหน่งหลังเกิดโครงนี้ ตามที่ทราบจากข้อมูลเดิมนั้น วัตถุประสงค์ของหมู่บ้านคือต้องการสร้างที่บ้านอำปึล หมู่ 6 โดย ส.อบต. ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นได้มีการประชุมร่วมกับชาวบ้าน ภายหลังอาจเกิดปัญหาว่าถ้าสร้างตรงนั้นอาจไม่เหมาะสมเพราะเป็นที่วัด จึงขยับมาอยู่จุดตรงนี้

Advertisement

นายก อบต.สะกาดกล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จก็เกิดกรณีว่าผู้ปกครองเกิดความไม่มั่นใจ เพราะว่าสถานที่แห่งนี้ใกล้แหล่งน้ำ ไม่มีใครส่งลูกหลานเข้ามาเรียน อบต.สะกาด ในสมัยนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการสร้างรั้วขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยและให้ผู้ปกครองเด็กเชื่อมั่น แต่ปรากฏว่าก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีเด็กมาเรียนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

“ตอนนี้ไม่รู้ว่า กศน.จะเข้ามาใช้สถานที่นี่หรือเปล่า เพราะเขาอ้างว่ามันไม่เป็นจุดศูนย์กลาง ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป ผมจะประชุม ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ปกครองนำเด็กเข้ามาเรียน หากปรับปรุงแล้วยังไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อให้คุ้มกับงบประมาณที่สร้างไป ตอนนี้ต้องไปดูระเบียบกฎหมายด้วยว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หากไม่มีเด็กมาเรียนจริงๆ คงจะปล่อยให้รกร้างโดยเปล่าประโยชน์แบบนี้ไม่ได้” นายก อบต.สะกาดระบุ

ด้านนายสุภณัฐ ผอ.กลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สนง.ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากที่ได้เห็นสภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ก่อสร้างมา ก็รู้สึกเสียดายงบประมาณที่ก่อสร้าง จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่างบในการก่อสร้างอาคาร จำนวน 1,798,000 บาท ในปี 2561 ต่อมาในปี 2563 มีการสร้างรั้วเพิ่มเติมอีก 320,000 บาท และใน 2564 ก็มีการสร้างถนนคอนกรีตเข้ามายังศูนย์แห่งนี้อีก ใช้งบ 290,000 บาท รวมงบทั้งหมดกว่า 2.4 ล้านบาท

นายสุภณัฐกล่าวว่า ในส่วนที่มาคือ อบต.สะกาด ได้จัดโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล ขนาดจำนวนไม่เกิน 50 คน โดยใช้งบจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 สถานที่ก่อสร้างบ้านอำปึล หมู่ 15 ซึ่งแต่เดิมสถานที่ก่อสร้างคือบ้านอำปึล หมู่ 6 ซึ่งมีการย้ายพื้นที่ก่อสร้างเนื่องจากมีการอ้างว่าสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง จึงย้ายมาก่อสร้างยังสถานที่แห่งนี้ ซึ่งพอสร้างเสร็จผู้รับจ้างมีการส่งมอบงาน มีการตรวจรับงานจ้างถูกต้อง มีการเบิกจ่ายงบแล้ว ปรากฏว่าผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียน และได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าเนื่องจากอาคารอยู่ติดแหล่งน้ำ

“ตามที่เราเห็นก็คืออยู่ไม่เกิน 10 เมตร เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ผู้ปกครองมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเด็ก ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ศูนย์ ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ต่อมาปี 2563 อบต.เล็งเห็นปัญหาก็เลยสร้างรั้วขึ้นมา พอสร้างรั้วเสร็จผู้ปกครองก็ไม่ส่งบุตรหลานมาอีก ต่อมาในปี 2564 ก็ได้จัดสร้างถนนคอนกรีตทางเข้าเพื่อเติมอีก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เด็กก็ไม่มาเรียน ตามสภาพที่เห็นถูกปล่อยทิ้งรกร้างตั้งแต่เปิดใช้แล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เสียดายโอกาสของประชาชนในพื้นที่” นายสุภณัฐกล่าว

นายสุภณัฐกล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลคือการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือการจัดทำโครงการที่ต้องระบุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นว่า การจัดทำแผนต้องมาจากความต้องการของประชาชนและความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะจัดทำโครงการ นายกก็จะระบุว่าโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนต่อสภา เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากทำเสร็จ กรณีนี้เป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เมื่อก่อสร้างเสร็จทำไมผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ หรือขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็น หรือความต้องการของประชาชน อบต.ได้ทำถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการก่อสร้าง มีกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง หัวใจของการจัดซื้อจัดจ้างคือให้เป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าโปร่งใส ตรวจสอบได้

“สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้นก็ได้ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร อบต.สะกาด แล้วว่าต้องดำเนินการในการแก้ไข หากท่านเห็นว่าจะใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กก่อนวัยเรียนได้เข้าเรียน ณ ศูนย์แห่งนี้ ท่านต้องปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่และปรับภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการทำการเรียนการสอน หรือรับฟังความคิดเห็นแล้ว สื่อสารกับกับผู้ปกครองแล้วยังไม่มีเด็กมาเรียน ก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้ทำอะไรเมื่อปรับปรุงแล้ว หรือจะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอขอทำเป็นศูนย์ออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน จะได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นในวันนี้ไปก่อน” นายสุภณัฐกล่าว

นายสุภณัฐกล่าวด้วยว่า หากตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้วพบว่าการดำเนินดังกล่าว ผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือไม่ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะสั่งการมาที่นายอำเภอสังขะ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของ อบต.สะกาด ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่คนใดปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ก็จะส่งเรื่องให้กับผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยตามสภาพแห่งความร้ายแรง ซึ่งตามข้อมูลก็ได้รับแจ้งว่าเหตุนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2561 ซึ่งนายก อบต.เข้ามารับตำแหน่งในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นก่อนจะมารับตำแหน่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image