นักวิจัยไทยค้นพบแย้ชนิดใหม่ ‘Leiolepis glaurung’ ตั้งชื่อตามมังกรจากนิยายดัง พร้อมเผยลักษณะเด่น

นักวิจัยไทยค้นพบแย้ชนิดใหม่ ‘Leiolepis glaurung’ ตั้งชื่อตามมังกรจากนิยายดัง พร้อมเผยลักษณะเด่น

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ผศ.ดร.ปรัชญาพร วันชัย ร่วมกับ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ La Sierra University สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาและค้นพบแย้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตีพิมพ์ในวารสาร ZooKeys

ผศ.ดร.ปรัชญาพร วันชัย อาจารย์ประจำภาควิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักวิจัยผู้ค้นพบ กล่าวว่า Leiolepis glaurung หรือ ที่ชาวบ้านในท้องที่เรียก “ยาบ, ย้าบ” เป็นรายงานแรกที่พบว่าแย้ในสกุล Leiolepis มีการปรับตัวขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ภูเขาหินทราย ขุดรูอยู่ตามชั้นของดินที่แทรกอยู่ระหว่างก้อนหินกับพื้นหิน ซึ่งจะแตกต่างจากแย้ชนิดอื่นในสกุลเดียวกันที่มักจะอาศัยอยู่ในที่ราบและขุดรูอยู่ตามพื้นดิน คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อลดการแข่งขันระหว่างแย้ชนิด Leiolepis rubritaeniata หรือ แย้อีสาน ที่พบในพื้นที่เดียวกัน ปัจจุบัน Leiolepis glaurung พบเฉพาะในเขตที่ราบสูงโคราช และแถบเทือกเขาภูพานที่จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา และชัยภูมิ

Advertisement

ลักษณะโดยทั่วไปของแย้ชนิดนี้ คือ ด้านหลังของหัว ลำตัว ขา และหางเป็นสีเทาจนถึงเกือบดำ สีของด้านข้างลำตัวเป็นสีส้มอมเหลืองพร้อมแถบขวางสีดำหนึ่งแถบในบริเวณส่วนหลังของขาหน้า ตามด้วยแถบขวางสีเหลืองจางที่ประกอบด้วยจุดสีเหลืองเล็ก ๆ ด้านล่างมีขอบด้านข้างที่ขยายออกได้น้อยหรือไม่มีเลย บริเวณคอมีสีดำพร้อมแถบสีเหลืองกว้างกลางคอ ท้องสีเหลืองมีจุดสีดำ สีหางด้านล่างจากสีแดงสดไปจนถึงสีส้ม ทั้งนี้ คำระบุชนิด “glaurung” มาจาก มังกรโบราณ แห่งโลก Middle Earth จากนวนิยายชุด The lord of the ring ของ J.R.R. Tolkien สื่อถึงลักษณะของสีท้องเหลืองทอง รวมถึงการสร้างหลุมใต้โขดหินคล้ายกับคำบรรยายของมังกร Glaurung ที่กล่าวถึงในหนังสือ The Silmarillion (ตั้งชื่อโดย Asst. Prof. Dr.Jesse Grismer)

Advertisement

ผศ.ดร.ปรัชญาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นักวิจัยได้ทำการศึกษาและค้นพบแย้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดอุบลราชธานี สอดรับกับพันธกิจและแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของพื้นที่เสริมสร้างความยั่งยืน และความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image