กลุ่มสุราชุมชน ขอนแก่น ยืนยันโรงกลั่น มีมาตรฐาน ปลอดภัย สรรพสามิต ตรวจเข้มต่อเนื่อง

กลุ่มสุราชุมชนขอนแก่น ยืนยันโรงกลั่นสุราชุมชนมีมาตรฐาน ปลอดภัย และสรรพสามิตออกตรวจเข้มต่อเนื่อง ด้านนักวิชาการชี้ข้อผิดพลาดดื่มยาดองเสียชีวิตอาจเป็นเพราะใช้แอลกอฮอล์ผิดประเภท

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่วิสาหกิจชุมชนโนนหนองลาด กลุ่มเมล็ดพันธุ์และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 174 ม.7 บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อพูดคุยกับกลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนกลั่นจากข้าวอินทรีย์ถึงผลกระทบจากข่าวที่มีคนดื่มเหล้ายาดองและเสียชีวิต

น.ส.สุภาพรรณ อุปฮาด อายุ 27 ปี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนมองว่าโรงงานเหล้าชุมชนจะเหมือนกันกับที่เป็นข่าวหรือไม่บางคนอาจจะแยกแยะไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้รู้จักจริงๆไม่รู้จักที่มาที่ไปจริงๆอาจจะเข้าใจไปในทำนองเดียวกัน ซึ่งโรงงานขนาดเล็กมีการตรวจมาตรฐานด้วยการสุ่มตรวจตัวอย่างให้กับสรรพสามิต เพื่อนำไปตรวจหาสิ่งแปลกปลอม และ มีส่วนผสมอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่ายอดลดลงอาจจะด้วยกระแสความนิยมลดลงด้วยอาจจะมีผลกับข่าวกินยาดองแล้วเสียชีวิตด้วยส่วนหนึ่งเพราะบางคนก็ไม่แน่ใจอาจจะชะลอการสั่งซื้อไว้ก่อน

“ยาดองเหล้าที่กินแล้วเสียชีวิตกับสิ่งที่กลุ่มทำไม่เหมือนกันเพราะว่าในส่วนที่กินแล้วเสียชีวิตคิดว่าน่าจะใช้แอลกอฮอล์ผิดประเภท แต่โรงกลั่นสุราชุมชนนั้นมีมาตรฐาน มีการตรวจวัดคุณภาพตลอดสามารถดื่มกินได้และเอาไปหมักต่อกับสมุนไพรที่เป็นตัวยาได้ อย่างไรก็ดีการควบคุมที่มีมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญแต่ว่าอยากให้เป็นเพื่อผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่มานั่งจับผิดคนผลิตถ้าทำได้จริงๆผู้บริโภคจะรู้สึกปลอดภัยและเป็นผลดีกับผู้บริโภคจริงๆ”

ADVERTISMENT

ขณะที่ ผศ.ดร.ฐิติกานต์ สมบูรณ์ อ.ประจำสาขาวิชาเคมีเชิงฟิสิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ มี 2 ประเภท คือ เอทานอล ซึ่งเป็นประเภทที่รับประทานได้ และเมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นประเภทรับประทานไม่ได้ กระบวนการสังเคราะห์ เป็นสารอันตราย ซึ่งจะมีหลายเกรด เช่น เกรดที่ใช้ในทางเคมีวิเคราะห์ ในส่วนที่เป็นข่าวนั้น เป็นฟู๊ดเกรด มีความแตกต่างด้านราคา เช่น เอทานอลราคา 160 บาทต่อลิตร

ADVERTISMENT

ส่วนเมธานอลราคา 60 บาท ต่อลิตร อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการนำไปผสมทำเป็นยาดอง เมื่อสังเกตทางกายภาพ พบว่า สารทั้ง 2 ชนิดนี้แยกกันยาก แต่หากดื่มเข้าไปแล้วให้สังเกตได้จากมีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่นอาการเมา แสบตา แสบร้อนที่ทรวงอก ซึ่งใช้เวลาไม่นานจะปรากฏ อาการเหล่านี้ เวลาในการออกฤทธิ์ไม่นานจะปรากฏอาการเฉียบพลันได้ เวลาไม่นานจะมีอาการที่ต่างจากการดื่มสุราทั่วไป เพราะหากเป็นสุราที่ดื่มตามปกติ มีองค์ประกอบหลายด้านทั้งปริมาณที่ดื่มใช้เวลาสักพักจึงจะมีอาการเมา

“สำหรับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ประมาณ 99% ซึ่งมีความเข้มข้นสูง ลักษณะทางกายภาพของแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ประเภทนี้ คือ สีใสแยกยากเหมือนน้ำ การสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนส่วนที่ต่างกันคือ กลิ่น เอทิลแอลกอฮอล์จะมีกลิ่นเบา ไม่ฉุน หากเป็นเมทานอล จะมีกลิ่นฉุนแรงในส่วนที่ใช้ในการดองสุรา จะใช้เหล้าขาวที่เป็นเมทิลแอลกอฮอล์ เอทานอล

โดยใช้กระบวนการหมัก แล้วนำไปต้ม เราจะได้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ซึ่งเหล้าขาว เบียร์ ไวน์ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน ตามภูมิปัญญาของขาวบ้านจะทำเหล้าขาวจากพืช เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น โดยนำไปหมักแล้วกลั่นออกมา หากดูตามกระบวนการหมักสุราพื้นบ้านแล้ว ที่ชาวบ้านผลิตในชุมชน เมื่อนำไปหมัก กลั่น ต้มตามกระบวนการแล้ว จะได้แอลกอฮอล์ที่เราเรียกว่า เอทานอล ที่ดื่มได้ เพราะกระบวนการหมักจะเกิดเมธานอลยาก ระดับชุมชนที่หมักและทำอยู่แล้ว จะมีวิธีการควบคุมคณภาพ”

ผศ.ดร.ฐิติกานต์ กล่าวต่ออีกว่า ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ถือว่ายังมีน้อย เพราะคนที่มีการผลิต ซื้อขายมานานยังไม่รู้ว่า แอลกอฮอล์ชนิดนี้อันตราย เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ยาก เพราะชาวบ้านจะเข้าใจว่า สุราสามารถดื่มได้ ที่สำคัญที่สุดคือผู้ผลิตต้องมีจรรยาบรรณ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตใช้เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสม เพราะต้องการลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาที่ต่างกัน แต่ไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจให้ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตเรื่องราคา ที่อาจจะถูกกว่าท้องตลาด ให้สันนิษฐานว่าเป็นเหล้าผสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image