น้ำวังทะลัก ท่วมตัวเมืองลำปาง ยังไม่กระทบย่านเศรษฐกิจ กาดกองต้า ยังรอด
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากฝนที่ตกหนักลงมาเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.67) ทำให้หลายพื้นที่ของ จ.ลำปาง ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งมวลน้ำฝนก้อนใหญ่ได้ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำวัง รวมถึงน้ำป่าที่ทะลักท่วมในหลายพื้นที่ของเขต อ.เมือง จ.ลำปาง ก็ได้ลงสู่แม่น้ำวังด้วยเช่นกัน จึงส่งผลทำให้แม่น้ำวังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 1.50 เมตร ไปจนถึง 2 เมตร และล้นท่วมในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำวัง ในหลายจุด ทั้งในเขต อ.เมือง และในเขตตัวเมืองลำปาง ทำให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมตลิ่งได้รีบเก็บสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นที่สูง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากระดับน้ำวัง ขึ้นสู่ระดับเตือนภัยสีเหลืองแล้ว
โดยตั้งแต่ช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ พื้นที่ในเขต อ.เมือง เริ่มได้รับผลกระทบ ทั้งในพื้นที่ ต.ต้นธงชัย และบริเวณชุมชนหลังวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม, ชุมชนท่านางลอย บริเวณสะพานเสตุวารี, ชุมชนท่ามะโอ ต.เวียงเหนือ เขตเทศบาลนครลำปาง ที่แม่น้ำวังล้นตลิ่งท่วมถนนเลียบแม่น้ำวังหมดแล้ว ระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร รวมถึงได้ล้นท่วมบ้านเรือนริมตลิ่ง ซึ่งเป็นจุดกลางเมืองลำปาง บริเวณหัวสะพานหลังวัดเกาะวาลุการาม เขตชุมชนปงสนุก ต.เวียงเหนือ ซึ่งอยู่ในที่ลุ่มต่ำมาก โดยสถานการณ์แม่น้ำวังได้ขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ก่อนที่จะค่อยๆ ลดระดับลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้
สำหรับปริมาณน้ำวังดังกล่าวนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนกาดกองต้า หรือที่หลายคนรู้จัก ถนนคนเดินกาดกองต้าชื่อดังของ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นย่านร้านค้า ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองลำปาง โดยน้ำวังยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งกว่า 1 เมตร ในอีกฝั่งของชุมชนกาดกองต้า เขต ต.หัวเวียง เทศบาลนครลำปาง ส่วนฝายพับได้ หรือฝายกั้นแม่น้ำวัง-เขื่อนยาง (เดิม) ที่แม่น้ำวังไหลผ่านกลางเมือง ก็มีกระแสน้ำที่มาก จนล้นทะลักขอบลานทางเดินริมตลิ่ง ก่อนไหลเร็ว แรง และเชี่ยวกราก ซึ่งมวลน้ำก้อนใหญ่นี้ จะไหลผ่านพื้นที่ อ.เมือง ตอนล่าง แล้วลงสู่เขต อ.เกาะคา อ.สบปราบ อ.เถิน และ อ.แม่พริก ก่อนไหลออกสู่ จ.ตาก ต่อไป
ด้านพื้นที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เมื่อวานนี้ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง สรุปสถานการณ์เบื้องต้น พบหมู่บ้านประสบภัยพร้อมกันถึง 37 หมู่บ้าน กระจายใน 8 ตำบล 3 อำเภอ ประกอบด้วยพื้นที่ อ.เมือง, อ.เมืองปาน และ อ.แม่เมาะ หนักสุดเกิดขึ้นในพื้นที่เขต อ.เมือง ถึง 6 ตำบล กว่า 30 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ทุกพื้นที่ ระดับน้ำลดลง และกลับสู่ภาวะปกติ