ท่วมเชียงใหม่รอบสอง กระทบ 2 หมื่นครัวเรือน ดับเพิ่ม 5 ส่งจิตแพทย์เสริมพลังใจทีมผู้ช่วยเหลือ

ปภ.สรุปเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่รอบสอง ดับเพิ่ม 5 บาดเจ็บ 1 กระทบกว่า 2 หมื่นครัวเรือน ส่งกรมสุขภาพจิตฟื้นฟูทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันที่ 10 ตุลาคม นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ รักษาราชการแทน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ สรุปสถานการณ์น้ำท่ามฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากร่องมรสุมพาดผ่าน ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบันว่า

จังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 50 ตำบล 20,808 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 อำเภอ อยู่ระหว่างการสำรวจและเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทภภัยตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นอำเภอสารภี ที่ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ คือ ยางเนิ้ง หนองผึ้ง สันทราย ท่าวังตาล หนองแฝก และไชยสถาน เร่งสูบน้ำผันออกจากพื้นที่ เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ในขณะที่สถานการณ์ ระดับน้ำปิงจุด P1 สะพานนวรัฐ อยู่ในระดับปกติ (ธงเขียว)

ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ดังนี้ อำเภอสะเมิง เหตุน้ำป่าพัด นายบุญศรี อายุ 61 ปี
บ้านหาดส้มป้อย หมู่ 7 ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และพบร่างเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ส่วนพื้นที่อำเภอสารภี เสียชีวิต 4 ราย ประกอบด้วยนางนุพิน อายุ 71 ปี นางอำพร อายุ 57 ปี นายพิสุทธิ์ อายุ 47 ปี เป็นชายพิการเสียชีวิตในน้ำ และนายพนมทียน อายุ 53 ปี ส่วน น.ส.วาตี อายุ 40 ปี บาดเจ็บ

ทางด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เปิดเผยว่า ได้จัดส่งทีม MCATT โดยมี จิตแพทย์และพยาบาล เยี่ยมเสริมพลังใจทีม ผู้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ Helper พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ หอพัก 700 ปี สนามกีฬาสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มผู้ให้การช่วยเหลือ หรือ Helper เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤต โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ในบางท่านอาจมีความเครียดความเหนื่อยล้า หรือมีภาวะซึมเศร้าจากการปฏิบัติงาน

ADVERTISMENT

“หน้าที่ที่ยากลำบากนี้มักทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะเครียด การเหนื่อยล้า และอาจต้องใช้พลังงานและความมุ่งมั่นมากมาย การให้กำลังใจ Helper จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากจะขอบคุณและยกย่องในความทุ่มเท การสนับสนุนการดูแลด้านสุขภาพจิตและร่างกาย หน่วยงานช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วมจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้”

“การทำงานเป็นเวลานานและเหน็ดเหนื่อย การให้กำลังใจผ่านการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น การจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม และสถานที่พักผ่อนที่เหมาะสม หรือการส่งเสริมให้พวกเขามีเวลาพักเพียงพอ ที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด ภาวะเหนื่อยล้าจนหมดแรง (burnout) และช่วยให้พวกเขาฟื้นฟูพลังงานเพื่อทำงานต่อไปได้” นพ.กิตต์กวี กล่าว

พญ.พิชาภัค จรัสรัศมี นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวว่า ทีมกู้ชีพกู้ภัยที่มาให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ มาจากหลายพื้นที่กว่า 300 คน อาทิ กู้ภัยสว่างศรีวิไลฯ บึงกาฬ หน่วยกู้ภัยสว่างเมธาธรรม ทีมกู้ภัย อบจ.สมุทรปราการ จึงมีการพูดคุยเสริมพลังใจ และแนะนำการดูแลและประเมินสุขภาพจิตผ่าน Mental Health Check-in และการสื่อสารขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน เพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต

“เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่า มีความเหนื่อยล้า แต่ก็มีพลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ดีใจ ที่ได้มาช่วยและประทับใจคนเหนือใจดี ช่วยเหลือสนับสนุนตลอดทาง ทำงานนี้มา 12 ปี แล้ว แต่ก็มีความสุข มีท้อบ้าง แต่ด้วยทีมร่วมแรงร่วมใจ และเห็นผู้ประสบภัยมีความสุขปลอดภัย ก็ดีใจแล้ว” พญ.พิชาภัค กล่าว