นฤมล ติดตามโครงการคลองระบายน้ำคลองเปรม แก้ปัญหาน้ำแล้ง-ท่วมคาบสมุทรสทิงพระ

นฤมล ติดตามโครงการคลองระบายน้ำคลองเปรม แก้ปัญหาน้ำแล้ง-ท่วมคาบสมุทรสทิงพระ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงลงพื้นที่โครงการคลองระบายน้ำคลองเปรม อาคารประกอบ ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา เพื่อติดตามและประเมินความพร้อมของแผนงานในการแก้ไขปัญหาด้านแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง มีนายจิรวัตร์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการ จ.สงขลา หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกวุฒิสภา และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ เป็นปัญหาที่กระทบต่อเกษตรกรและการดำรงชีวิตของประชาชน กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงคลองพลเอกอาทิตย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ปลายคลองและเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำ โดยใช้น้ำต้นทุนจากทะเลสาบสงขลา ซึ่งถูกสูบขึ้นมาผ่านสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวคันกั้นน้ำกระแสสินธุ์ และจะหยุดสูบน้ำเมื่อระดับความเค็มเกิน 1.50 กรัม/ลิตร เพื่อเก็บเป็นน้ำต้นทุนใช้ในฤดูแล้ง

นายวิทยา กล่าวว่า การเพาะปลูกปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งได้เริ่มดำเนินการเก็บกักน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลาไว้ในคลองพลเอกอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน ก่อนที่ระดับความเค็มจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การสูบน้ำจืดเข้าคลองเปรมเพื่อไปเก็บกักไว้ในคลอพลเอกอาทิตย์นั้นยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากคลองเปรมยังไม่ถูกปรับปรุงให้มีศักยภาพเพียงพอในการส่งน้ำและระบายน้ำไปถึงปลายคลองอย่างเต็มที่กรมชลประทาน จึงได้เสนอแผนงานการก่อสร้างโครงการไปในปี 2569-2570 โดยใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ADVERTISMENT

“แผนการปรับปรุงคลองเปรม จะดำเนินการตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 2+000 เพื่อให้สามารถรองรับการระบายน้ำได้ถึง 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีองค์ประกอบเช่น การทำคลองคอนกรีตและอาคารระบายน้ำ มีช่องระบายขนาด 2.50×2.50 เมตร 3 ช่อง พร้อมระบบควบคุมการเปิด-ปิด และสะพานรถยนต์ 2 แห่ง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนครได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ 217,397 ไร่” นายวิทยา กล่าว

ADVERTISMENT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image