แกนนำเกษตรกร ชี้ มาตรการช่วยชาวนา เกาไม่ถูกที่คัน หากรบ.ไม่เร่งแก้ จ่อเคลื่อนไหวบุกทำเนียบ

แกนนำเกษตรกร ชี้ มาตรการช่วยชาวนา เกาไม่ถูกที่คัน หากรบ.ไม่เร่งแก้ จ่อเคลื่อนไหวบุกทำเนียบอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ร้อยเอกอุบล พุทธรักษ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนที่ 1 ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ตัวแทนสภาเกษตรกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลสั่งช่วยชาวนาระดมงบประมาณ1.8 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถดึงราคาขึ้นจาก 6,000 บาท ต่อตัน เป็น 8,000 บาทต่อตัน แต่งบประมาณถูกกระจายไปในส่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือระยะสั้น หลังจากมีชาวนาออกมาเคลื่อนไหว ประท้วงราคาข้าวตกต่ำ โดยในส่วนของ จ.พิษณุโลก ก่อนหน้านี้กลุ่มสภาเกษตรกรโทรแจ้งเรื่องการมาประท้วงรัฐบาล ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก โดยมี การระดมชาวนา 3 อำเภอ กว่า 500 คนเดินทางมาเรียกร้อง ให้รัฐบาลช่วยเหลือราคาข้าวตกต่ำ เพื่อขอช่วยเหลือปรับราคาข้าวที่กำลังตกต่ำ เกษตรกรชาวนาประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีราคาสูงขึ้นสวนทางกัน แต่หลังจากมีมาตรการออกมา เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ปลายเหตุ ไม่ได้เจาะฝีหนองต้นตอจริง ๆ ปัญหายังถูกซ่อนอยู่

จากที่คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ มีมติ 3 มาตรการดึงราคาข้าวเปลือกนาปรังฟื้นจาก ราคาข้าวตกต่ำ ได้แก่ 1.สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง และได้ 1,000 บาทต่อตัน หากเก็บที่สหกรณ์ โดยสหกรณ์ได้ 500 บาทต่อตัน ต้องเก็บข้าวไว้ 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน 2.ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน และต้องซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200 บาทต่อตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน และ 3.เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการต้องรับซื้อข้าวสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท นั้น

ADVERTISMENT

มาตรการที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลไม่ได้ช่วยชาวนา ไม่ได้สนใจชาวนา แต่หันไปช่วยสนใจ คนกลาง หรือเจ้าของโรงสี มากกว่า จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาข้าว เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลาง หากฝากเข้าสหกรณ์ ๆ ได้ 500 บาท หากฝากโรงสี ให้โรงสี ตันละ 500 บาท ถามว่าชาวนาจะมีแรงไปฝากไหม? เพราะเวลานี้ชาวนาเป็นหนี้เป็นสิน ส่วนใหญ่ชาวนาเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะรีบขาย เงินที่จะรองรับตรงนั้น ทำไมถึงไม่เอาเงินตรงนั้นมาช่วยเหลือ ชาวนาอย่างที่เคยขายได้ 6,000 บาท เพิ่มอีก 1,000 บาท ก็เป็น 7,000 บาท ไม่ต้องให้กับทางสหกรณ์ 500 บาท หรือโรงสีควรนำเงินดังกล่าว รวม 1,500 บาท ไปเพิ่มให้กับเกษตรกรเลยโดยตรง

แน่นอนว่าทุกกระแสของชาวนาได้พุ่งมาที่ตัวแทน อาจต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เพราะว่าค้าขายไม่เป็น ประสานงานไม่เป็น ไม่ได้ไม่ใส่ใจไม่สนใจ ทั้งรัฐมนตรีเกษตรฯและรัฐมนตรีพาณิชย์ ชาวนาอยากให้มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีทั้งสองคนอย่างเร่งด่วน และอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจัง ให้ทันท่วงทีอย่าไปเอื้อให้กับพ่อค้าคนกลาง ส่วนสิ่งที่ชาวนาอยากได้จริงๆ คือ อยากให้รัฐบาล ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเงินที่จะนำไปให้กับทางสหกรณ์ ทำไมไม่นำเงินตัวนี้มาชดเชยให้กับชาวนา ที่เขาขายข้าวได้ในราคา 5,000 บาท/ตัน ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล 1,500 บาท ก็จะทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นตันละ 6,500 บาทเป็นต้น เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้อย่างดียิ่ง โดยเงินที่ต้องการอุดหนุนทั้งหมด นำมาให้ชาวนาโดยตรงไม่ต้องแบ่งปันให้กับใคร

ADVERTISMENT

ที่สำคัญชาวนาไม่มีแรง ไม่มีทุนที่จะรอคอยไปถึงตรงนั้น เพราะเขาเป็นหนี้เป็นสินอยู่แล้ว เขาจะได้เก็บเกี่ยวแล้วนำไปขาย ได้เท่าไหร่ก็นำบิลตัวนี้มาขึ้นเงินต่อได้เลย ชาวนาอยากเห็นเป็นแบบนั้นมากกว่า มาตรการที่รัฐบาลที่ออกมา เกาไม่ถูกที่คัน ชาวนาต้องการที่จะปรับราคาขึ้น แต่พอรัฐบาลออกมาตรการออกมา กลับไปช่วยพ่อค้าคนกลาง โดยที่นำไปฝากไว้กับโรงสี ๆ เจ้าของโรงสีได้ตันละ 500 บาท แล้วชาวนาได้ 1,000 บาท นำไปฝากกับสหกรณ์ได้ 500 บาท แต่ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ชาวนารอตรงนั้นไม่ได้ ทำไมจึงไม่นำเงินส่วนนี้มาให้มาชดเชยให้กับชาวนาโดยตรง ตันละ 1,500 บาท คือ ขายได้เท่าไหร่บวกกับเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะช่วย แต่ตอนนี้ ชาวนาทั่วประเทศ มีความเคลือบแคลง ไม่พอใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลครั้งนี้ แนวทางเบื้องต้น ตัวแทนชาวนาทั่วประเทศก็จะมีการประชุม แล้วจะแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่งในเร็วๆนี้ ในฐานะตัวแทนของชาวนา อยากเห็นการแก้ไขอย่างจริงจัง จริงใจของรัฐบาล

สำหรับชาวนา ในจังหวัดพิษณุโลกมีประมาณ 60% ที่ทำนาปลูกข้าว เงินที่อุดหนุนมา เกาไม่ถูกที่คัน ทำให้เงินไปอยู่กับพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ หากให้นำข้าวเปลือกไปฝากไว้ที่ โรงสี ที่ผ่านมาพบว่าข้าวน้ำหนักสูญหายไป เป็นร้อยกิโลกรัม ยกตัวอย่าง จากเดิมที่ฝากไว้ 5 เกวียน ก็จะเหลือประมาณ 3 เกวียนกว่าๆ ซึ่งข้าวที่สูญหายไป แม้ว่าเราจะได้เงินเพิ่มขึ้นมา แต่ปริมาณข้าวที่หายไป ก็ทำให้ชาวนาเสียผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่แก้ไข ชาวนาอาจจะมีการออกมาเคลื่อนไหว เข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image