โรงเรียนเกษตรพอเพียง ‘ราชบุรี’ ลุยปรุงดินปลูกผักสลัด ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้

โรงเรียนเกษตรพอเพียง‘ราชบุรี’

ลุยปรุงดินปลูกผักสลัด

ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้

มติชนฉบับนี้จะพาไปดูโรงเรียนตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้พื้นที่เล็กๆ ในโรงเรียนวัดนางแก้ว ต.นางแก้ว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช้ในการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งผักสลัดยกแคร่ สายพันธุ์กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ผักกะหล่ำ กำลังอยู่ในช่วงเก็บผลผลิตขายพอดี นอกจากนี้ยังมีปลูกแบบยกแปลงใช้อิฐแดงกั้นเป็นล็อกๆ เป็นแปลงผักสวนครัว โดยนำดินที่มีการผสมจากปุ๋ยคอก กากมะพร้าว ผสมกับดินร่วน แกลบ คลุกเคล้าให้เข้ากันนำมาปลูกผักก็จะได้ดินที่มีคุณภาพ ปลูกพริก มะเขือ ผักบุ้ง ชะอม และผักอีกหลายชนิด มีการเจริญเติบโตที่ดี มีอายุการปลูกที่ใกล้เคียงเพื่อจะได้มีการเก็บผลผลิตต่อเนื่องขายให้กับประชาชนในชุมชน และผู้ปกครองนักเรียนที่มารับลูกหลานที่โรงเรียน ในราคาถูกมีความปลอดภัยจากสารเคมี หากสังเกตบริเวณผักสลัดจะมีตัวชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว ซึ่งเป็นตัวดัชนีชี้วัดความปลอดสารเคมีในท้องถิ่นที่อยู่อาศัยจะบินมาเกาะหาอาหารเพื่อสร้างรังบริเวณต้นไม้ในโรงเรียนด้วย

ADVERTISMENT

ด.ช.ธนโชติ อุเบกขจิตต์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีการสอนปลูกผักบุ้ง พริก มะเขือ มีผักอีกหลายชนิด ยังมีผักสลัดซึ่งจะใช้เวลาการปลูกประมาณ 21 วันจึงตัดขายได้ โรงเรียนยังมีการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน การเลี้ยงปลาดุก ปลานิล การเลี้ยงไก่ไข่ จะเอาไปทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียน และขายให้กับคนในชุมชน เพื่อนำรายได้เป็นทุนการศึกษา จะตัดผลผลิตขายช่วงบ่าย ทุกวันพุธของสัปดาห์ แปลงผักนักเรียนจะช่วยกันจัดการดูแลการปลูก และการขายทุกระดับชั้นเรียน สับเปลี่ยนกันดูแลให้อาหารปลา เก็บไข่ไก่ และดูแลผักแต่ละชนิด โดยสูตร การดูแล การใช้ดินจะได้มาจากโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ สนับสนุนปุ๋ย และสูตรปรับปรุงดิน แนะนำการปลูกพืชผัก มีการผสมปุ๋ยคอก มูลสัตว์ลงไปในดิน ทำให้พืชผักเติบโตและยังมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

นายสุรเชษฐ์ สายสุดใจ ผอ.โรงเรียนวัดนางแก้ว กล่าวว่า เป็นความคิดรวบยอดของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก จะทำให้เด็กได้เข้าใจหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และนำพาซึ่งความสุขความเจริญทั้งในส่วนตัวเด็กและในชีวิตครอบครัว จากนี้จะขยายผลสู่ครัวเรือนต่อไป เป็นตัวอย่างที่โรงเรียนได้จัดทำไว้เหมือนกับเป็นการสาธิตให้เด็กได้เรียนรู้ ส่วนของชุมชนได้มาช่วยเหลือโรงเรียน ชาวบ้านเห็นเด็กทำงานด้านการเกษตร มีการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาดุก ปลานิล ไก่ไข่ มีการออกไปสู่ชุมชนก็จะให้การสนับสนุน เพราะส่งเสริมให้เด็กมีรายได้

ADVERTISMENT

ระหว่างเรียน โดยผลิตภัณฑ์ที่เด็กนำไปต่อยอดที่บ้าน สามารถเอามาจำหน่ายช่วงการจัดกิจกรรมการทำตลาดนัดในวันพุธเด็กก็ยังมีรายได้อีกด้วย

สำหรับผลผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่อารมณ์ดีเก็บกันสดๆ ทุกวัน ที่โรงเรียนขายคละไซซ์แผงละ 110 บาท ผักบุ้งกำละ 10 บาท ผักสลัดต้นละ 25-30 บาท พริกถุงละ 10 บาท มะเขือ 10 บาท และผักอื่นๆ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกในแปลงราคาย่อมเยา ที่สำคัญผักเหล่านี้การปลูกแบบปลอดสารเคมี เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม

เขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มาสอนการปรุงดินปลูกผักสลัด และพืชผักชนิดต่างๆ การทำน้ำส้มควันไม้เพื่อไล่ศัตรูพืชใช้ฉีดพ่นทางใบ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำจุลินทรีย์ การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ในโรงเรียน ถือเป็นการช่วยลดการใช้สารเคมี เด็กๆ มีความปลอดภัย ทำให้โรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักในชุมชน และยังช่วยให้เกิดทักษะการเรียนรู้การปลูกพืชผักตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะตัดผักขายกันทำเป็นตลาดนัดการเกษตรขายทุกวันพุธ และจะตัดขายตามออเดอร์สั่งของชาวบ้าน หรือผู้ปกครอง ราคาไม่แพง

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ ติดต่อสอบถามได้ที่นายสุรเชษฐ์ สายสุดใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนางแก้ว เบอร์ติดต่อ 08-4880-4448

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image