กสทช.ลงพื้นที่ตรวจสอบจาน-สายสื่อสารข้ามประเทศ อ.เมืองหนองคาย พบบางสายต้องตรวจสอบละเอียด
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 68 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.ภาค 2 พร้อมชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย, ชุดสืบสวน สภ.เมืองหนองคาย, ชุดสืบสวน ตม.หนองคาย และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 โดยการนำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ได้เข้าตรวจสอบสถานีวิทยุคมนาคม และการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดน ในเขตอำเภอเมืองหนองคายจำนวน 3 จุด
จุดแรก ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง พบสายอากาศแบบโครงข่ายไร้สายระยะไกล หรือจานไวร์เลส ลิงก์ ความสูง 37.4 เมตร ซึ่งหันทิศทางไปยัง สปป.ลาว ห่างจากชายแดนเพียง 1.24 กิโลเมตร จุดที่ 2 พบจานไวร์เลส ลิงก์ ที่อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ความสูง 25.6 เมตร ระยะห่างจากชายแดน 7.75 กิโลเมตร และจุดสุดท้าย พบจานไวร์เลส ลิงก์ ที่อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง พบความสูง 18 เมตร ระยะห่างจากชายแดน 936 เมตร ทั้งนี้จานไวร์เลส ลิงก์ สามารถส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตระยะไกลได้สูงสุดถึง 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบการลากสายสายสื่อสารข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย พบมีสายสื่อสารบางสายที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวภายหลังการเข้าตรวจสอบว่า จากการเข้าตรวจสอบพบทั้ง 3 จุดมีอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตติดตั้งอยู่ ความผิดเบื้องต้นคือ มีอุปกรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการติดตั้งและการใช้ ขอตรวจสอบปริมาณฟิกและตรวจสอบอุปกรณ์อื่นๆ ก่อนว่ามีการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ อุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้เป็นไวร์เลส ลิงก์ ซึ่งแต่ละจุดมีการติดตั้งอุปกรณ์หันไปทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน พบ 1 ใน 3 จุด มีการใช้งานอย่างแน่นอน แต่ขอตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน
นายไตรรัตน์ได้ฝากถึงประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนว่า ประชาชนที่จะติดตั้งอุปกรณ์จานไวร์เลส ลิงก์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ควรจะศึกษาก่อนว่าจะต้องขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช.หรือไม่ ซึ่งโดยปกติถ้ามีการติดตั้งลักษณะแบบนี้ จะถูกมองไปในทางที่ไม่ถูกต้องแน่นอน สำหรับมาตรการต่างๆ ของ สำนักงาน กสทช. จะใช้เหมือนกันทั่วประเทศสำหรับบริเวณตะเข็บชายแดนทั้งหมด ในส่วนของจังหวัดหนองคายเอง ก็ได้มีการรื้อเสาอากาศและสายอากาศไปแล้วบางส่วน อีกบางส่วนยังหมุนไปทางประเทศเพื่อนบ้านอยู่ ก็ได้มีการประสานไปยังผู้ประกอบกิจการไปแล้วให้มีการมาลดหรือกดสัญญาณลงให้ใช้ในประเทศเท่านั้น รวมทั้งให้ลดกำลังส่งลงตามที่ได้กำหนดไว้ ประชาชนที่เห็นจานหรือเสาสัญญาณที่มีลักษณะแบบนี้ สามารถแจ้งเพื่อให้สำนักงาน กสทช.เข้าตรวจสอบได้
สำนักงาน กสทช.ยังมีแผนดำเนินการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมทางหลวง ขอให้มีการตรวจสอบการพาดสายสื่อสารของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อป้องกันการลักลอบลากสายสื่อสารเถื่อนข้ามสะพาน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศจำนวน 17 สะพานทั่วประเทศ เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ สำนักงาน กสทช.ได้ลงพื้นที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปแล้วครั้งหนึ่ง และพบว่ามีการลากสายสื่อสารเถื่อนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้จึงลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยให้ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นเจ้าของสายสื่อสารติดแท็กเพื่อระบุความเป็นเจ้าของสายสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการแบบมีโครงข่าย ทั้งอินเตอร์เน็ต และวงจรเช่า ระหว่างประเทศ จำนวน 68 ราย
ดังนั้นหากมีการติดตั้งจานฯ ในระยะใกล้เคียงตามแนวชายแดนก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า มีการตั้งสถานีเพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตข้ามแดน และอาจนำไปสู่การใช้การก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยจะมีความผิดฐานมีใช้ และตั้งสถานีจานไวร์เลส ลิงก์ ซึ่งถือเป็นเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำและปรับ
ทั้งนี้ การลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย นับเป็นพื้นที่ที่ 5 ในรอบเดือนนี้ที่มีการตรวจสอบสถานีวิทยุคมนาคม และการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนทั่วประเทศ