รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยทิศทางพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมโยงแหล่งโบราณคดี“ถ้ำดิน” อนาคตต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกรมศิลปากรค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งตอนปลาย (สมัยไพลสโตซีน) ซึ่งเป็นโครงกระดูกเด็กอายุราว 29,000 ปี พร้อมภาพเขียนสีโบราณภายในแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายชิดชนก กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมีอุทยานแห่งชาติถึง 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, กุยบุรี, หาดวนกร, น้ำตกห้วยยาง และเขาสามร้อยยอด ที่เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสำคัญล่าสุด
“อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 11 ของประเทศ การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและภาพเขียนสีในครั้งนี้ นับเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ และกรมศิลปากรที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พึ่งพาธรรมชาติ แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่กับธรรมชาติอีกด้วย” นายชิดชนกกล่าว
ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ มีแผนร่วมมือกับกรมศิลปากรในการวางแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ โดยจะพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมโยงแหล่งโบราณคดีกับจุดชมวิวและระบบนิเวศที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ในรูปแบบที่ไม่กระทบต่อความสมดุลของธรรมชาติและ ไม่กระทบกับแหล่งโบราณคดี
นายชิดชนก ยังกล่าวถึงนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้เป็นโมเดลนำร่องด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประเทศไทย โดยเน้นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นี้ อาทิ น้ำตกป่าละอู, กุยบุรี, หาดวนกร, น้ำตกห้วยยาง และเขาสามร้อยยอด ล้วนมีศักยภาพสูงในการพัฒนา โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ที่สามารถต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
“การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ควบคู่กับเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีอยู่เดิม สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่ทรงคุณค่า” นายชิดชนก กล่าว
สำหรับขั้นตอนต่อไป กรมอุทยานฯ และกรมศิลปากรจะร่วมกันประเมินศักยภาพและความเหมาะสมในการเปิดพื้นที่ถ้ำดินเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและประวัติศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยระหว่างนี้จะต้องให้เวลา นักโบราณคดี กรมศิลปากรในการขุดค้นข้อมูลเพิ่มเติม อย่างละเอียดและได้ข้อมูลครบถ้วนก่อน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่ถ้ำดินยังไม่เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้จัดเจ้าหน้าที่ 2 ชุด เฝ้าเส้นทางขึ้นถ้ำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมห้ามบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากยังมีการสำรวจทางโบราณคดี และชิ้นส่วนโครงกระดูกยังคงอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจทำให้แหล่งโบราณคดีเสียหายได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย