‘วุฒิไกร ช่างเหล็ก’ นายก อบจ.หนองคาย ชูธง ‘3 ซ่อม 3 สร้างสู่ประตูเชื่อมอินโดจีน’

‘วุฒิไกร ช่างเหล็ก’
นายก อบจ.หนองคาย
ชูธง‘3 ซ่อม 3 สร้างสู่ประตูเชื่อมอินโดจีน’

ภายหลังการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งหลายจังหวัดมีนายก อบจ.หน้าใหม่คว้าชัยชนะจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสามารถล้มแชมป์เก่าที่นั่งครองเก้าอี้มาหลายสมัยได้สำเร็จ หนึ่งในนั้น คือ “วุฒิไกร ช่างเหล็ก” นักธุรกิจที่เพิ่งลงสนามการเมืองท้องถิ่นสมัยแรก ผู้สามารถเอาชนะ “ยุทธนา ศรีตะบุตร” อดีตนายก อบจ.หนองคาย 5 สมัย ผู้ครองอำนาจบริหารงาน อบจ.หนองคาย มานานกว่า 20 ปี รวมถึงสมัยล่าสุดด้วย และวุฒิไกรเป็น 1 ใน 10 ว่าที่นายก อบจ.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งล็อตแรก

สำหรับ วุฒิไกร ช่างเหล็ก ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันอายุ 50 ปี เป็นชาวหนองคายโดยกำเนิด ก่อนลงสนามการเมือง เป็นรู้จักในแวดวงธุรกิจเมืองหนองคาย เคยเป็นรองนายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย, รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย รวมทั้งประกอบธุรกิจ เป็นกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท สยาม ฟีนิกส์ โลจิลติกส์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ ดรากอนเรย์
อควาติค จำกัด, ดูแลการส่งออกปูนซีเมนต์ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) รวมทั้งในธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม จนได้รับรางวัลดีเด่นจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หลังได้ไฟเขียวให้เข้านั่งบริหารงาน อบจ.หนองคาย เสี่ยแอร์ หรือนายกแอร์ เปิดเผยกับ “มติชน” ถึงเส้นทางก่อนเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น ตลอดจนวิสัยทัศน์ และการวางนโยบายบริหารใน 4 ปีนับจากนี้ว่า หลังเรียนจบระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ (ไฟฟ้า) จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่หนองคายตามความประสงค์ของแม่ ที่ต้องการมาประกอบธุรกิจส่วนตัวแทน อีกทั้งเพื่อดูแลแม่ที่อายุมากขึ้น เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวทำธุรกิจ มีโรงเลื่อยที่ สปป.ลาว จึงคุ้นเคยการค้าขายระหว่างประเทศและงานชิปปิ้ง จึงมองเห็นช่องทางการทำธุรกิจ โดยประกอบธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ส่งออกปูน เหล็ก น้ำยาผสมคอนกรีต เป็นต้น ส่งขายตามร้านค้าใน สปป.ลาว กระทั่งสามารถส่งสินค้าให้งานโครงการขนาดเล็กไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว รวมระยะเวลาทำธุรกิจนี้มานานกว่า 20 ปี

ADVERTISMENT

“นอกจากนี้ยังทำธุรกิจเพาะปลาสวยงาม ซึ่งเกิดจากความชื่นชอบเลี้ยงปลามาตั้งแต่เด็ก ด้วยความฝันในวัยเด็ก หันมาเลี้ยงปลาเริ่มจากปลาคาร์ป แต่เจอปัญหาหลายอย่าง ด้วยความอยากเอาชนะปัญหา จึงเริ่มต้นการศึกษาอย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จในการศึกษาการเลี้ยงน้ำ การบริหารจัดการน้ำก่อนเลี้ยงปลา และขยับเป้าหมายในการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าแรงคนงาน เพื่อให้มีรายได้ รวมทั้งศึกษาตลาดปลาในอนาคต และมาจบที่ปลากระเบนลายจุด รวมเวลาตั้งแต่ทำการศึกษาจนถึงทำฟาร์มประมาณ 15-16 ปี ล่าสุดที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลากระเบนแบล๊กไดมอนด์ (Black Diamond) มีพ่อ-แม่พันธุ์ปลาประมาณ 500 ตัว ตั้งเป้าเพาะลูกปลาได้ปีละประมาณ 1,200 ตัว แต่สามารถทำได้จริงประมาณร้อยละ 50-60 ทำให้ฟาร์มของผมใหญ่ที่สุดในภาคอีสานมีการส่งขายทั่วโลก”

ADVERTISMENT

ในระหว่างการประกอบธุรกิจ นายกแอร์มีความสนใจงานการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อประสบความสำเร็จจากธุรกิจ นายกแอร์จึงตัดสินใจลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.หนองคาย โดยมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวหนองคาย

นายกแอร์ กล่าวว่า มีการตั้งเป้าไว้เป็นระยะๆ หลักๆ จะทำงานตามข้อบัญญัติงบประมาณของผู้บริหารชุดเดิมได้ตั้งไว้ แต่จะเสริมในส่วนของงบประมาณอุดหนุนและงบกลางที่จะเข้ามาผลักดันในโครงการที่ตั้งไว้ให้เป็นรูปธรรม หรือหากสามารถแปรหรือปรับเปลี่ยนงบประมาณในส่วนไหนได้จะดำเนินการเพื่อสนองความต้องการของชาวบ้านได้เร็วที่สุด เน้น เรื่องสาธารณูปโภคที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และระบบกล้องวงจรปิดในหมู่บ้าน

“การบริหารงาน ได้ฟอร์มทีมทำงานไว้แล้ว มีรองนายก อบจ. 2 คน เลขานุการ และที่ปรึกษารวมแล้วไม่เกิน 5 คน โดยเป็นทีมงานใหม่ทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ. ส่วนโครงการที่ต้องการทำให้สำเร็จ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ที่จับต้องได้เลยอาจไม่ใช่โครงการใหญ่ แต่เป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเพิ่ม เช่น งานประเพณีของจังหวัด อย่างงานมหาสงกรานต์อีสานหนองคาย อยากประชาสัมพันธ์ให้จังหวัดหนองคายกลับมาอยู่ในจุดที่มีชื่อเสียง จะทำอย่างไรให้จังหวัดหนองคายมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก ไม่ใช่เข้ามาผ่าน ดังนั้นเน้นเรื่องกิจกรรม งานประเพณีต่างๆ โดยขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เป็นมิติเดียวกันทั้งหมด และสอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่นั้นด้วย

นโยบายสำคัญที่ถือเป็นหัวใจในการบริหารงาน คือ การบริหารการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดต้องผ่านการรับฟังประชาชน ผมและทีมบริหารคนรุ่นใหม่เห็นว่าสถานการณ์ในภาคธุรกิจ หรือภาคอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เราจึงจำเป็นต้องรับฟังเสียง คำแนะนำจากภาคส่วนต่างๆ เพราะเราคือคนกลางที่จะนำไปพัฒนาและบริหารจัดการ ผมจึงตั้งนโยบายนายกพบประชาชนโดยตรง ไม่ใช่ให้ประชาชนมาหาเรา แต่จะเข้าไปในแต่ละพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความต้องการ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัญหาความต้องการแตกต่างกัน

ส่วนการทำงานเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย ล่าสุด ผมเพิ่งกลับจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมๆ กับนายก อบจ.จังหวัดอื่นๆ ซึ่งนายกฯมีนโยบายให้นายก อบจ.แต่ละจังหวัดเข้าไปประชุมกับนายกฯโดยตรงเดือนละ 1 ครั้ง ถือเป็นการตรวจการบ้านว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว ทำตามนโยบายหรือทำตามแผนงานหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคหรือติดขัดอะไรมีความต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง จะทำให้ผมสามารถนำเรียนเรื่องต่างๆ กับนายกฯได้โดยตรง อาจมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาเสริมด้วย ส่วนนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนที่หาเสียงก็จะทำทุกนโยบาย

นายกแอร์ กล่าวอีกว่า นโยบายหลักที่จะทำตามที่เคยหาเสียงคือ “หนองคายประตูสู่โอกาส” 3 ซ่อม 3 สร้าง เพื่อหนองคาย สร้างหนองคายให้พร้อมกับการเป็นประตูเชื่อมอินโดจีน ซึ่ง 3 ซ่อมนั้นประกอบด้วย 1.ซ่อมระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ 2.ซ่อมระบบสุขภาพที่ดีให้ประชาชนทุกช่วงวัย โดยการสนับสนุนสุขภาพประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ พร้อมพัฒนาบริการสุขภาพในชุมชนอย่างทั่วถึง และ 3.ซ่อมคุณภาพชีวิตด้วยเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ยกระดับหนองคายสู่เมืองอัจฉริยะโดยโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ เช่น ถนนไร้ฝุ่น น้ำประปาดื่มได้ ไฟฟ้าส่องสว่าง ติดตั้งกล้องวงจรปิดในหมู่บ้าน/ชุมชน และอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง

ส่วนนโยบาย “3 สร้าง” ประกอบด้วย 1.สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสรายได้ที่แท้จริง “เรียนไป ได้งาน” ส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาพัฒนาโรงเรียนสีฟ้า พัฒนาหลักสูตรภาษาต่างประเทศและอีคอมเมิร์ซ เพื่อรองรับการค้าชายแดน พร้อมเพิ่มศักยภาพของเยาวชนในท้องถิ่น เป็นสังคมฐานการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

2.สร้างศักยภาพเกษตรกรและเศรษฐกิจการเกษตร โดยพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่เป็น SME ที่มีศักยภาพพร้อม ยกระดับตลาดกลางการเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์และสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยผนวกการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสนับสนุนการสร้างตลาดสินค้าเกษตร Smart-up

3.สร้างการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานสากล เช่น การท่องเที่ยวทางน้ำและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง สนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งการค้าชุมชน และการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น

“ในส่วนของคนวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน นอกจากการดูแลเรื่องสุขภาพเช่นกับคนวัยอื่นๆ แล้ว ยังวางเป้าหมายการพัฒนาหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาส่งเสริมการเกษตร อาชีพ การท่องเที่ยว การจ้างงาน โดยดึงนักลงทุนมาในพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีงานทำในพื้นที่ แทนที่ให้คนกลุ่มนี้ออกไปทำงานในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆ”

นายกแอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอบคุณชาวหนองคายที่ให้การสนับสนุน ขณะนี้มีความพร้อมเข้ามาทำงาน และพร้อมรับฟังเสียงชาวหนองคายทุกคน โดยเปิดให้ส่งคำแนะนำ ความต้องการ เข้ามาผ่านเพจ วุฒิไกร ช่างเหล็ก หรือ Tiktok หลังเข้าทำงานแล้ว จะเปิดช่องการการติดต่อที่เป็นทางการเพื่อรับคำแนะนำ ร้องเรียน หรือติดต่อในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าของชุมชนต่างๆ ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image