กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิฯ ลงพื้นที่ แปลงทุเรียนทุนจีนท่าตะเกียบ ชี้ดูตรงไหนก็ผิด-โยงหลายหน่วยงาน
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ลงพื้นที่ดูแปลงปลูกทุเรียนทุนจีนที่ท่าตะเกียบ แปดริ้ว พบความผิดหลาย พ.ร.บ.คาตาโยงหลายหน่วยงาน ทั้งการบุกรุกที่ดินป่าสงวน การขุดดินถมดิน การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร การเชื่อมโยงขยายเขตใช้ไฟฟ้า ก่อนให้ข้อเสนอแนะแต่ละหน่วยงานตรวจสอบความเป็นมาสาวขยายผล ขู่ดำเนินคดีหากไม่ขยับให้ความร่วมมือ พร้อมเตรียมพัฒนาพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนเป็นป่าชุมชน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งนำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการพร้อมเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัดและระดับเขตลงพื้นที่มายังที่แปลงปลูกทุเรียน ที่บริเวณแปลงปลูกทุเรียนของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.14 และ ม.20 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตกเป็นข่าวดังหลังจาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าทำการปักป้ายตรวจยึดพื้นที่จำนวน 688 ไร่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ตาม ปจว.ข้อ 1 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา หลังจากมีการตรวจสอบพบว่า เป็นการลงทุนจากกลุ่มทุนชาวจีน ได้มีคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่นั้น คณะกรรมาธิการฯ พบว่าในพื้นที่จริงนั้น ยังมีการกระทำผิดที่เกี่ยวกับการลักลอบขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในบริเวณใกล้กับอาคารห้องแถวที่พักคนงาน การบุกรุกเข้ามาสร้างโรงเรือนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การขุดบ่อขนาดใหญ่ลึกถึงกว่า 30 เมตรขวางทางน้ำ การต่อเชื่อมขยายเขตใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้ามาใช้ในพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย และการจัดเก็บภาษีตาม ภบท.5 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยหลังจากการลงพื้นที่ นายชีวะภาพ ได้กล่าวโดยสรุปว่า วันนี้คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการกฎหมายและยุติธรรมวุฒิสภาได้ลงพื้นที่เพื่อมาดูข้อเท็จจริง และพบข้อเท็จจริงข้อแรก คือ พบว่าเป็นการบุกรุกยึดถือครอบครองชัดเจนของบริษัทกลุ่มใหญ่ โดยหลังจากดูเอกสารประกอบแล้วพบว่า มีการเปลี่ยนมือมาจากอีกบริษัทหนึ่ง โดยบริษัทแรกทำมะม่วงหิมพานต์ และมาบันทึกยินยอมกันด้วยใบ ภบท.5 ซึ่งเป็นการมาอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่แรก และถ่ายโอนมายังบริษัทที่ 2 ที่มาทำสวนทุเรียนซึ่งก็เป็นการทำผิดกฎหมายอีก

นายชีวะภาพ กล่าวว่า เพราะว่า ภบท.5 มาใช้ทำแบบนี้ไม่ได้ในเขตป่าสงวน และเมื่อตรวจลึกลงไปในพื้นที่ตรงนี้บางส่วนนั้นได้มีการจัดให้พี่น้องประชาชนชาว อ.ท่าตะเกียบ ทำกินตามโครงการ คทช.ของรัฐบาลโดย จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 2 หมื่นไร่ ขณะนี้เราได้เห็นแล้วว่าทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.) ขยายผลดำเนินคดี ซึ่งสอดคล้องกับทางคณะกรรมาธิการที่ได้ให้คำแนะนำไปแล้วว่า หากมี พ.ร.บ.ตัวไหนที่พบการกระทำผิดก็ต้องดำเนินการให้ครบ ประเด็นแรก คือ พื้นที่เท่าใดก็ต้องให้ชัดเจนจากทั้ง 2 หน่วยงาน คือ ป่าไม้ และ ทสจ.ที่จะแบ่งกันดำเนินคดี
“เพื่อตรวจให้ครบว่าเขาครอบครองตรงไหนผิดอย่างไร ก็ว่ากันไปตามนั้น ประเด็นที่ 2 ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ตั้งแต่ชาวบ้านที่ขายให้เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิด บริษัทที่ 2 ทำมะม่วงหิมพานต์ก็ผิด และบริษัทที่ 3 ทำสวนทุเรียนก็ผิด ในวันนี้ได้เห็นแล้วว่ามีประมาณเกือบ 700 ไร่ และเชื่อว่ายังมีอีกต้องขยายผลให้หมด ประเด็นที่ 3 คือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นที่มาพบเห็นในวันนี้ หรือเจอต่อหน้าต่อตา คือ บ่อน้ำบาดาลที่ต้องจะต้องแจ้งคามดำเนินคดีถ้าไม่ได้มีการขออนุญาต รวมทั้งการขุดดินถมดินที่เกี่ยวข้องกับทาง อบต.คลองตะเกรา ที่จะต้องไปแจ้งความด้วย รวมทั้งในเรื่องของอาคารที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และในบางหน่วยนั้นได้แนะนำให้ใช้ยาแรงโดยส่งไปให้ทาง ปปง.ดำเนินการตรวจสอบยึดทรัพย์ เพื่อสกัดกั้นขบวนการของนายทุนใหญ่ๆ แบบนี้ ให้ได้ว่าต่อไปนั้นต้องพึงระวัง เพราะฝ่ายกฎหมายก็มีที่ปรึกษาก็มีจะบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เมื่ออยู่ในเมืองไทย
นายชีวะภาพ กล่าวว่า ยิ่งเป็นบริษัทที่มาจากต่างชาติก็ต้องศึกษาระเบียบกฎหมายของแต่ละประเทศที่ใช้บังคับอยู่ก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ขาดเจตนาอันนี้ตนไม่เชื่อและอย่าไปเชื่อกัน ส่วนเรื่องเสาไฟฟ้าอีกเรื่องหนึ่งนั้น ต่อไปต้องพึงระวังจะอนุญาตให้ใครปักเสาพาดสายเข้ามาต้องดูให้ชัด โดยขณะนี้ให้ทาง กฟภ.ไปตรวจสอบให้ชัดว่า ตรงไหนที่ไม่ได้ขออนุญาตการขยายเขตเข้ามาให้นายทุน ที่เขาทำผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นทางการไฟฟ้าจะกลายเป็นผู้กระทำผิดไปด้วย
“จึงได้แนะนำให้ไปตรวจสอบ หากตรวจแล้วพบว่ามันผิด เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เขาถูกดำเนินคดีก็จะต้องไปรื้อถอนออก ให้รีบรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าออกไป หากถ้าไม่ดำเนินการก็จะถูกแจ้งดำเนินคดีไปด้วย ซึ่งในวันนี้กรรมาธิการได้แนะนำไปแล้ว เพราะมันชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีที่ไม่ได้ขออนุญาต และเมื่อสอบถามไปทางป่าไม้ก็ได้บอกว่าไม่ได้มีการขออนุญาต สอบถามจากทางจังหวัดก็ไม่ได้ขออนุญาต เมื่อไม่ได้ขออนุญาตก็จะผิดด้วย จึงให้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน”นายชีวะภาพ กล่าว
ประธานกมธ.สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ส่วน อปท.นั้นให้ระวังเกี่ยวกับเรื่องของการออกใบ ภบท.5 ในเขตป่าสงวนด้วย เพราะทางกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือเวียนออกมาตั้งแต่เมื่อปี 2551 แล้วว่าในเขตที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ต้องออกใบ ภบท.5 หรือจัดเก็บรายได้ ถ้าเขตที่ดินที่ได้รับอนุญาต เช่น สปก. หรือพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์นั้นสามารถจัดเก็บรายได้และออกใบ ภบท.5 ได้เลย แต่วันนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วไปออกให้ นั้นไม่เป็นไปตามหนังสือเวียนที่ทางมหาดไทยเขาแจ้งเวียนไว้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐของแต่ละหน่วยก็ต้องรับผิดชอบ โดยทาง อบต.จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ และหลังจากนี้คณะกรรมาธิการจะติดตามและร่วมกับทุกหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว และจะลองทำหนังสือเชิญไปยังทั้ง 2 บริษัทให้มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ทั้งบริษัทมะม่วงหิมพานต์และทุเรียน ว่าจะมาหรือไม่มา หากไม่มาก็ไม่เป็นอะไรเพื่อให้โอกาสเขาได้พูดบ้าง ที่เขาอาจจะมีส่วนที่อยากจะชี้แจง หรือหากไม่มีเจตนาอะไรจะได้แนะนำไปว่าวันหลังจะทำอะไรก็ต้องระวัง
“อย่างที่เห็นมีการขุดบ่อขนาดใหญ่ขวางทางน้ำจากภูเขาที่จะลงไปในหมู่บ้าน นี่ก็ผิดอีก เป็นการกระทำที่น่าเกลียดและเห็นแก่ตัว ส่วนสวนทุเรียนที่เห็นอยู่นี้ ตามนโยบายของปลัดกระทรวงที่เพิ่งให้นโยบายสั่งการมา คือ ให้นำไปทำป่าชุมชน ซึ่งก็ต้องทำการรื้อถอนออกไปให้หมด แล้วเอาต้นไม้มาปลูกจะได้ป่าชุมชนผืนใหญ่และเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับชุมชน” นายชีวะภาพ กล่าว