‘เมล็ดข้าว’ คืนถิ่นกำเนิด ‘ตรัง’ ฟื้นฟู 10 สายพันธุ์ดั้งเดิมที่หายไป

‘เมล็ดข้าว’คืนถิ่นกำเนิด‘ตรัง’
ฟื้นฟู10สายพันธุ์ดั้งเดิมที่หายไป

คณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจังหวัดตรัง ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรผู้ที่ยังคงอนุรักษ์การทำนาจากหลายพื้นที่ของ จ.ตรัง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ยีนแบงก์) ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย นักเรียนจากหลายโรงเรียนในพื้นที่ จ.ตรัง คณะสงฆ์ และชาวบ้าน ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวพันธุ์พื้นเมือง จ.ตรัง 10 สายพันธุ์ ที่เคยหายไปจากพื้นที่ อันเนื่องจากเกษตรกรเลือกทำนา ในพื้นที่ทุ่งนาหนองยายลาย หมู่ 5 ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง ภายใต้กิจกรรม “เก็บข้าวเก็บรักสานพลังนโยบายขับเคลื่อนตรังความมั่นคงทางอาหาร มีข้าวไม่อด” เป็นพันธุ์ข้าวตรังคืนถิ่น โดยได้เมล็ดพันธุ์จากธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ได้แก่ ข้าวเบาขี้ควาย ข้าวลูกปลา ข้าวนางกอง ข้าวเล็บนกไร่ ข้าวเบาหอม ข้าวลูกหวาย ข้าวหนุนห้อง ข้าวหอยสังข์ ข้าวสายบัว และข้าวเบายอดม่วงตรัง ซึ่งปัจจุบันเป็นข้าวอัตลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ที่นำมาปลูกตามโครงการการใช้ประโยชน์เชื้อพันธุ์ข้าวจากธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม

ภายในกิจกรรมดังกล่าวมีการเก็บเกี่ยว ได้ใช้แกระเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นวิธีการเกี่ยวข้าวแบบดั้งเดิมของชาวนาภาคใต้ในอดีต เพื่อให้เด็กๆ เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้วิถีการทำนาแบบสมัยโบราณ สำหรับข้าวทั้ง 10 สายพันธุ์นี้ ในอดีตเคยเป็นสายพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านตำบลต่างๆ ของ จ.ตรัง นิยมปลูก แต่หายสาบสูญไปไม่ต่ำกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลิกทำนาและหันมาซื้อข้าวเพื่อบริโภคแทน แต่โชคดีที่นักวิชาการเกษตรสมัยนั้นได้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเหล่านี้ไว้ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ก่อนนำมาปลูกเพื่อส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด ทั้งนี้ ในการปลูกจะแยกชนิดพันธุ์ข้าวออกเป็นแปลงๆ และการเกี่ยวข้าวจะแยกเก็บแต่ละสายพันธุ์ตามแหล่งกำเนิด และก่อนส่งมอบเกษตรกรในพื้นที่ต้นกำเนิดเพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์ในถิ่นเดิม เช่น พันธุ์ข้าวหนุนห้อง ถือเป็นสายพันธุ์มงคล เป็นข้าวสายพันธุ์ที่คนลุ่มน้ำปะเหลียนเคยปลูก โดยส่งมอบให้เกษตรกร อ.ปะเหลียน อ.ย่านตาขาว อ.หาดสำราญ, ข้าวสายพันธุ์เบาขี้ควาย เป็นข้าวประจำถิ่นของชาวบ้านโคกสะบ้า อ.นาโยง, ข้าวพันธุ์สายบัว ข้าวประจำถิ่น ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง

ข้าวเบายอดม่วง ส่งคืนชาวบ้าน ต.นาพละ แต่ทั้งนี้ ข้าวทุกสายพันธุ์จะมีการเลื่อนไหลไปปลูกในถิ่นอื่นๆ ด้วยเมื่อชาวบ้านเห็นว่าข้าวชนิดไหนให้ผลผลิตดี แต่โดยรวมทั้ง 10 สายพันธุ์ให้ผลผลิตต่อไร่สูงประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ บางสายพันธุ์ให้ผลผลิตมากถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

ADVERTISMENT

นักเรียนโรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง ต.นาพละ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรม แม้ที่บ้านไม่ได้ทำนาแต่ได้มาเรียนรู้วิถีการทำนาสมัยโบราณ ได้เรียนรู้ที่มาของข้าว รวมทั้งความยากลำบากกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ด ในปีต่อไปหากจัดกิจกรรมอีกก็อยากมาร่วมด้วย

“นางกุหลาบ หนูเริก” ประธานวิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ต.นาพละ กล่าวว่า พื้นที่ ต.นาพละ ตอนนี้มีพื้นที่ทำนาเหลือประมาณ 889 ไร่ มีสมาชิกทั้งหมด 111 ราย การจัดกิจกรรมและการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวคืนถิ่นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้วิถีการทำนาของบรรพบุรุษปู่ย่าตายตั้งแต่ดั้งเดิม ทำให้คนตรังได้รู้ว่า จ.ตรัง มีข้าวพื้นถิ่นจำนวนมาก ปีนี้มีการนำมาปลูกในแปลงทดลองรวม 10 สายพันธุ์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน เดิมข้าวเหล่านี้กระจายอยู่ประจำตำบลต่างๆ ใน จ.ตรัง แต่ตอนหลังหายไป หากไม่อนุรักษ์ไว้ ปล่อยให้สูญหายไป ลูกหลานจะไม่รู้จักข้าวพื้นเมืองเหล่านี้อีกต่อไป ข้าวทุกสายพันธุ์ให้ผลผลิตสูงต่อไร่ประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวแล้วแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวบ้านจะนำกลับไปปลูกในพื้นถิ่นต่างๆ ต่อไป

ADVERTISMENT

ขณะที่ “นายสำราญ สมาธิ” ครูโรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง เป็นคณะทำงานวิชาการความมั่นคงทางอาหาร (ข้าว) สมัชชาสุขภาพ จ.ตรัง กล่าวว่า กิจกรรมนี้ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ และชาวบ้านในชุมชนต่างๆ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 3 ไร่ เป็นการคัดเลือกข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมของ จ.ตรัง ที่เคยปลูกในสมัยโบราณ ซึ่งจริงๆ มีหลายชนิด แต่คัดเลือกกันแล้วเหลือ 10 สายพันธุ์ เป็นการปลูกเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชและกระจายพันธุ์ไปสู่ชุมชน

“พันธุ์ข้าวดั้งเดิมเหล่านี้ไม่มีการปลูกแล้วนับตั้งแต่เริ่มมีรถเกี่ยวข้าวเข้ามา และมีข้าวสายพันธุ์เข้ามาปลูก ชาวบ้านก็เลิกทำนา ข้าวพันธุ์เหล่านี้ก็สูญหายไปจาก จ.ตรัง และไปนอนอยู่ในยีนแบงก์นานถึง 40 ปี จึงนำเมล็ดมาปลูกใหม่ ทำโครงการข้าวคืนถิ่นมาเป็นปีที่ 3 เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์กลับคืนให้ชุมชนต่างๆ ที่เคยเป็นถิ่นปลูกข้าวสายพันธุ์นั้นๆ ไม่ให้สูญหายอีก นอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่นแล้ว ยังเป็นการเดินหน้ายกระดับพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย”

หลังจากข้าวเหล่านี้หายไปจากพื้นที่และนำกลับมาปลูกใหม่ พบว่าผลผลิตออกมาดี มีคุณภาพ ทั้งความสมบูรณ์แข็งแรงของต้น เข้ากับสภาพอากาศแบบ จ.ตรัง ให้ผลผลิตสูง บางสายพันธุ์ได้ผลผลิตสูงนับตันต่อไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image