ซินเคอหยวน ค่าไฟพุ่ง 6.4 ล้าน ทั้งที่ถูกสั่งปิด บริษัทจีนโต้เรื่องคุณภาพเหล็กตึกสตง. สงสัยโดนความร้อน

ซินเคอหยวน ค่าไฟพุ่ง 6.4 ล้าน ทั้งที่ถูกสั่งปิด บริษัทจีนโต้เรื่องคุณภาพเหล็กตึกสตง. สงสัยโดนความร้อน

จากกรณี นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าทีมตรวจสุดซอย เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ร่วมกันเข้าตรวจสอบบริษัทชินเคอหยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กไม่ผ่านมาตรฐาน แล้วนำไปก่อสร้างอาคาร สตง.

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเดือน พ.ย.67 ช่วงที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่นั้น มีค่าไฟอยู่ที่ 134 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือน ธ.ค.67 หลังบริษัทได้มีการสั่งระงับกิจการในวันที่ 19 ธ.ค.67 ค่าไฟจะลดลงเหลืออยู่ที่ 73 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2568 เดือน ม.ค.68 ซึ่งเป็นเดือนที่มีการระงับการผลิตตลอดทั้งเดือนจำนวนค่าไฟได้ลดลงเหลืออยู่ จำนวน 1.2 ล้านบาท และในเดือน ก.พ.68 ซึ่งเป็นเดือนที่ได้มีการระงับการผลิตเช่นเดียวกัน ค่าไฟได้ลดลงมาเหลือที่ 6.4 แสนบาท โดยในเดือนมีนาคม 2568 ค่าไฟขยับขึ้นมาเป็น 6.4 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าบริษัทมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเหตุผลประการใด

นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบว่า โรงงานมีการลักลอบเคลื่อนย้ายเหล็กที่ถูกยึดอายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่-ผลจากกการตรวจสอบพบว่า เหล็กของกลางที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้ยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีการเคลื่อนย้าย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ายังไม่มีการลักลอบจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป

ADVERTISMENT

เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเหล็กจากบริษัท นำกลับมาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อตรวจเช็กว่าเป็นเหล็กในล็อตใดบ้าง ถูกจำหน่ายออกจากบริษัทไปเมื่อไร ซึ่งในส่วนนี้ได้สั่งการให้บริษัททำหนังสือชี้แจงการจำหน่ายเหล็กทั้ง 2 ขนาดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งกลับมาภายใน 7 วัน

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการลักลอบจัดเก็บฝุ่นแดงซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ไว้ภายในบริเวณโรงงานเป็นจำนวนมากกว่า 43,000 ตัน โดยที่บริษัทแจ้งการกักเก็บฝุ่นแดงที่เกิดจากเตาหลอมเหล็กก่อนถูกสั่งปิด เพียงปีละ 2,245 ตันเท่านั้น อีกทั้งในปี 2567 บริษัทไม่มีการแจ้งหรือรายงานการกักเก็บฝุ่นแดงแต่อย่างใด กรณีนี้ กระทรวงจึงได้สั่งการให้บริษัทชี้แจงภายใน 7 วัน

ซึ่งระหว่างที่ทางคณะทีมตรวจสอบ ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัท มีการโต้เถียงกันเล็กน้อย เนื่องจากทางตัวแทนบริษัทขอให้ทางเจ้าหน้าที่ นำตัวอย่างเหล็กที่ถูกอายัดเอาไว้ ไปส่งตรวจกับสถาบันยานยนต์ควบคู่กับสถาบันเหล็กกล้าฯ พร้อมนำเอกสารมาโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่ามาตรฐานสารโบรอนของทั้ง 2 สถาบันมีความแตกต่างกัน โดยของสถาบันเหล็กกล้าฯ มีมาตรฐานอยู่ที่ 0.0009 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0025 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของสถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนอยู่ที่ 0.0004 เปอร์เซ็นต์ ถึง 0.0066 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากดูค่ามาตรฐานของทั้ง 2 สถาบันแล้ว สถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนที่ดูต่ำกว่า

แม้ทางคณะทีมตรวจสอบ จะได้มีการอธิบายต่อหน้าว่าช่วงที่บริษัทได้มีการไปขอมาตรฐาน มอก. ก็ได้นำเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของสถาบันดังกล่าว แต่ถ้าหากทางบริษัทจะอยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน ทางทำงานก็ไม่ติดขัด เพราะจะได้ให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทด้วย พร้อมกันนี้ทางคณะทีมตรวจสอบ ยังได้ชี้แจงด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการนำตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ได้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตามทางตัวแทนบริษัทก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่าทางบริษัทไม่ได้ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบจากสถาบันเหล็กกล้าฯ ก่อนหน้านี้ แต่ที่อยากให้ทางเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบทั้ง 2 สถาบัน เพราะทั้ง 2 สถาบัน มีมาตรฐานค่าโบรอนที่ต่างกัน ซึ่งถ้าหากผลออกมาจากทั้ง 2 สถาบันจะต่ำกว่ามาตรฐานทั้งคู่ ทางบริษัทก็ยอมรับได้

ผู้สื่อข่าวก็ได้มีการสอบถามกับทางตัวแทนบริษัทชินเคอหยวน ว่าทางบริษัทมีความกังวลใจหรือไม่หลังทางได้เข้ามาตรวจสอบในวันนี้ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีความกังวลอะไรเลย เนื่องจากทางบริษัทได้แสดงความบริสุทธิ์ใจให้คณะและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ พร้อมกับขอยืนยันว่าตั้งแต่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการสั่งระงับการการผลิต และอายัดเหล็กที่ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ทางบริษัทก็ได้มีการระงับการผลิตเหล็กตั้งแต่วันที่ได้มีการออกคำสั่ง ส่วนเหล็กที่ถูกอายัดไว้ในโกดัง ทางบริษัทไม่เคยเข้าไปยุ่งและไม่เคยเข้าไปแตะต้องอะไรเลย

ส่วนประเด็นที่มีคนเห็นรถบรรทุกฝุ่นแดงซึ่งเป็นส่วนผสมของการผลิตเหล็กเข้าออกที่โรงงาน ทางบริษัทขอชี้แจงเรื่องนี้ว่า ฝุ่นแดงที่มีการบรรทุกเข้าออกโรงงาน เป็นฝุ่นแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่เปิดโรงงานในช่วงปี 2554 ซึ่งไม่ได้นำออกมาผลิตเหล็กแต่อย่างใด เพราะทางบริษัทเคารพกฎของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มีการระงับการผลิต แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้มีการออกคำสั่งว่าห้ามให้มีการขนย้ายฝุ่นแดงเข้าออกโรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือว่าตัวของบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด

ส่วนเหล็กที่ได้มีการจำหน่ายออกไปแล้วไปสร้างอาคาร สตง. ทางบริษัทชี้แจงว่า เพิ่งทราบจากข่าวว่าเหล็กที่ได้นำไปสร้างอาคาร สตง. เป็นเหล็กของบริษัทซินเคอหยวน เพราะก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่ทราบเลยว่าหลังได้มีการจำหน่ายไปให้กับเอเจนซี่ ซึ่งถือว่าเป็นพ่อค้าคนกลาง จากนั้นทางพ่อค้าคนกลางได้ไปจัดจำหน่ายให้กับผู้รับเหมารายไหนต่ออีกทอด แต่ยืนยันว่าหลังจากที่ได้มีการผลิตเหล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางโรงงานก็ได้มีการตรวจคุณภาพตั้งแต่ต้น พอนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ฝั่งพ่อค้าคนกลางก็จะมีการตรวจค่ามาตรฐานซ้ำอีกรอบ ซึ่งถ้าหากผ่านมาตรฐานก็จะนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และก่อนที่จะนำเหล็กไปสร้างนั้น ทางผู้รับเหมาก็จะมีการตรวจสอบอีกขั้นก่อนจะนำเหล็กไปใช้

แต่อย่างไรก็ตามทางทนายความของบริษัทชินเคอหยวน ก็ได้ขอชี้แจงว่า เหล็กของอาคาร สตง. ที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการนำไปตรวจสอบ แล้วพบว่าเหล็กของบริษัทซินเคอหยวน ไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่า เหล็กของบริษัทที่ได้นำไปก่อสร้างอาคาร ระหว่างนั้นเหล็กอาจจะไปโดนความร้อน โดนปูน หรือส่วนผสมในการก่อสร้าง จนทำให้มีการส่งผลต่อคุณภาพของเหล็ก และก็ยังไม่รู้ว่าในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. มีการใช้เหล็กของบริษัทในอัตราสัดส่วนเท่าไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image