อะโรเมติกฟาร์ม แปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง‘มะพร้าวน้ำหอม’ ต่อยอด ‘ถ่านไบโอชาร์’ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน

วิสาหกิจอะโรเมติกฟาร์ม แปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง‘มะพร้าวน้ำหอม’ ต่อยอด ‘ถ่านไบโอชาร์’ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน

มะพร้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ จ.นครปฐม แต่ละปีมีการส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้แต่ละพื้นที่มีเศษวัสดุที่เหลือมาจากมะพร้าวน้ำหอมสะสมเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาต่อชุมชนที่ต้องเร่งบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วิสาหกิจชุมชนบ้านอะโรแมติก ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มีนางนวลลออ เทิดเกียรติกุล เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 34 ครัวเรือน มีพื้นที่รวมประมาณ 50 ไร่ มีการบริหารจัดการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมแบบอินทรีย์ การปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน การสร้างศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้สนใจนำไปพัฒนาพื้นที่ ช่วงปีที่ผ่านมาได้ทำโครงการวิจัย การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากมะพร้าวน้ำหอม โดยได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัย จากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ภายใต้โครงการเพื่อบ้านเรา ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.ดำเนินสะดวก อบต.แพงพวย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี วิสาหกิจชุมชนบ้านอะโรแมติก ฟาร์ม กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จ.ราชบุรี 1

ADVERTISMENT

ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกมะพร้าวและการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ 9 ตำบล รอบโรงไฟฟ้าราชบุรี โดยได้รับข้อมูลปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ต.แพงพวย เช่น ที่ทิ้งเปลือกมะพร้าว ปัญหาแมลงศัตรูพืช ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการจัดประชุมพบกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมและการเกษตรอื่นๆ ไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 และนัดประชุมตามวาระอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนชุมชน และการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเตรียมขยายผลระบบการบริหารจัดการไปสู่พื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้ง จ.ราชบุรี

ผศ.ดร.พระมหาประกาศิต สิริเมโธ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพัฒนาสังคม วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วัดไร่ขิง กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมงานวิจัยระดับปริญญาเอกของนิสิตปริญญาเอกสาขาการพัฒนาสังคมรุ่นที่ 3 ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ในการจัดการสวนมะพร้าวแบบครบวงจร เป็นกิจกรรมที่นิสิตได้ร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการสวนมะพร้าว ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นิสิตต้องลงทำงานกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงพื้นที่

ADVERTISMENT

นายจตุพร โสภารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อบ้านเรา ซึ่งทางบริษัทจัดทำมาตลอดหลายปี กาบมะพร้าวเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สารแทนนินที่เกิดจากเปลือกมะพร้าว หรือการฝังกลบที่ไม่ดี เป็นปัญหาต่อเนื่องมาให้ชุมชน ทำให้เกิดโครงการเพื่อนบ้านเราโดยการร่วมกับอะโรแมติก ฟาร์ม ในการศึกษาจัดทำไบโอชาร์ ซึ่งวันนี้จะมาฟังผลการผลิตไบโอชาร์ ผลที่ได้จะนำกลับไปใช้กับชุมชน ชาวสวนมะพร้าว คิดว่าทางสวนมะพร้าวจะได้รับเทคโนโลยีที่ดี สามารถนำไปใช้ในสวนมะพร้าวของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต

นายสุวิทย์ชาติ นวมเพ็ชร นายอำเภอดำเนินสะดวก กล่าวว่า อ.ดำเนินสะดวกมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 4,700 ไร่ ปริมาณขยะเหลือทิ้งจากเปลือกมะพร้าวเฉลี่ยมากกว่า 1 พันตันต่อวัน ตรงนี้จะมีปัญหา คือ การนำไปกองรวมกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ด้วงมะพร้าวที่เป็นแหล่งศัตรูพืชที่สำคัญ และยังส่งกลิ่นเหม็น ช่วงหน้าฝนน้ำไหลลงไปกองตรงเปลือกมะพร้าว จะชะลงสู่แม่น้ำลำคลองอาจจะส่งผลให้เสียหายได้ รู้สึกยินดีที่ได้จัดกิจกรรมเอ็มโอยูเป็นการให้ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนบ้าน

อะโรแมติก ฟาร์ม และภาคีร่วมสนับสนุน นำวัสดุที่เหลือทิ้งจากมะพร้าวน้ำหอมมาสร้างมูลค่า ลดต้นทุน และยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีอะโรแมติก ฟาร์ม เป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อขยายผลตรงนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย

นายบุญฤทธิ์ โจสรรค์นุสนธิ์ นายก อบต.แพงพวย กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม มีล้งมะพร้าวจำนวนมากที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเปลือกมะพร้าว ทางมะพร้าว ลูกทุย ของเสียที่เหลือใช้จากการผลิตมะพร้าวส่งออกต่างประเทศ สำหรับโครงการวิจัยยังได้ทดลองนำเศษวัสดุจากมะพร้าวน้ำหอมนำไปตากแดดเพื่อลดความชื้น ทดลองตากแดดไม่เท่ากัน เมื่อได้เศษวัสดุจากมะพร้าวที่นำไปตากแดดแล้วจึงนำไปเข้ากระบวนการผ่านเตาเผาโดยใช้เวลาที่แตกต่างกัน ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เหลือใช้ เช่น ไบโอชาร์ ซึ่งมีความเป็นรูพรุนสูงมาก เปรียบเหมือนฟองน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เก็บปุ๋ยได้ เป็นประโยชน์ของเกษตรกร อนาคตยังมีแนวคิดทำอิฐปูพื้นจากเศษวัสดุมะพร้าวน้ำหอมต่อยอดอีก

ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวยังได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้ง การพัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ และยังได้นวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง เช่น ไบโอชาร์ น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยหมัก วัสดุปรับปรุงบำรุงดินและแผ่นปูน มีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำดีกว่าอิฐตัวหนอนที่ใช้ปูในพื้นที่ทั่วไป มีรายได้จากการบริหารจัดการวัสดุจากมะพร้าวน้ำหอม มีรายได้จากระบบ WASTE TO VALUE เกิดทักษะการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรของชุมชน ภายใต้ AREA-BASED ของพื้นที่ตนเอง โดยการส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนรู้รัก และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือศึกษาดูงานโครงการได้ที่อะโรแมติก ฟาร์ม เบอร์ 08-1909-0226

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image