วิศวกร มทส. เผยวิธีซ่อมแซมอาคารเรียนสูง 4 ชั้น โรงเรียนบุญวัฒนา หลังพบรอยร้าวอันตรายจากแรงบิดแผ่นดินไหวเมียนมา ชี้ 2 ทางเลือก ราคาประหยัดแต่ช้า-รวดเร็วทันใจแต่ต้นทุนสูง ยันซ่อมทันเปิดเทอม พ.ค.68 หากโรงเรียนเคลียร์งบไว
จากกรณี ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนและประธานหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา และทีมวิศวกรด้านโครงสร้างอาคารสูง ลงพื้นที่สำรวจอาคารสูง โรงเรียนบุญวัฒนา ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำรวจโครงสร้างอาคาร กรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยได้รับการประสานงานจาก ดร.วิเชียร ทองคลี่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวัฒนา ให้มาตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครู นักเรียน และผู้ปกครอง ก่อนถึงช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม 2568
คณะสำรวจได้ตรวจอาคาร 2 หลัง ได้แก่ อาคาร 4 และอาคาร 5 โดยอาคาร 4 เป็นอาคารเรียน ความสูงทั้งหมด 9 ชั้น สร้างมานานกว่า 20 ปี ไม่พบรอยร้าวแต่อย่างใด ส่วนอาคาร 5 ซึ่งเป็นอาคารเรียนสูง 4 ชั้น สร้างมาเมื่อปี 2565 พบรอยร้าวของคานรับน้ำหนักบริเวณรอยต่อเสาอาคารทุกเสา ทีมงานตรวจสอบจึงได้ทำการเจาะแผ่นปูนฉาบ เพื่อตรวจสอบดูเนื้อปูนด้านใน พบว่ารอยร้าวทุกจุด แตกลึกทะลุไปอีกด้านของคานอย่างชัดเจน ถือเป็นรอยร้าวอันตรายที่เกิดจากแรงบิดตัวของแผ่นดินไหว ทำให้โรงเรียนต้องสั่งปิดการใช้งานอาคารเป็นการชั่วคราว เพื่อเร่งหาทางซ่อมแซมรอยร้าวให้แล้วเสร็จก่อนถึงช่วงเปิดเทอม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบอาคารเรียนสูง 4 ชั้น ของโรงเรียนบุญวัฒนา เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบรอยร้าวบริเวณคานรอยต่อกับเสาหลายจุด โดยทีมงานนำเครื่องเจียรเจาะเปิดดูความลึกของรอยร้าว 1 จุด พบว่าเป็นร้อยร้าวที่ลึกทะลุไปอีกฝั่งของคาน จึงถือว่าเป็นรอยร้าวอันตรายที่เกิดจากแรงบิดของแผ่นดินไหวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ทางทีมงานเพิ่งจะเปิดดูรอยร้าวเพียงรอยเดียว ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าทุกรอยร้ายจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ จึงได้ประสานทางโรงเรียนขอเข้าตรวจสอบรอยร้าวทั้งหมดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อประเมินความเสียหายและเสนอแนะวิธีซ่อมแซมโครงสร้างตัวอาคารเรียนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์กล่าวว่า สำหรับวิธีซ่อมแซมขณะนี้ก็มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ 1.Conventional หรือวิธีดั้งเดิม และ 2.Chemical Grout ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 วิธีก็มีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน ถ้าใช้วิธี Chemical Grout ก็จะมีความสะดวกรวดเร็วกว่า หน้างานจะสะอาดกว่า แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนวิธีดั้งเดิมจะเป็นการเติมเหล็กเสริมเข้าไป ไม่ได้มีความซับซ้อน คล้ายการดามเหล็ก ซึ่งจะต้องมีการดีไซน์ใหม่ เพื่อให้มีความปลอดภัย ข้อดีคือต้นทุนไม่ได้สูงมาก แต่ข้อเสียคืออาจจะต้องใช้เวลานาน และหน้างานจะไม่ค่อยสะอาดเหมือนอีกวิธี
ส่วนการซ่อมแซมจะแล้วเสร็จทันก่อนเปิดเทอมหรือไม่นั้น ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์กล่าวยืนยันว่า ห้วงเวลานี้ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันแน่นอน แต่ปัญหาคือทางโรงเรียนจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาให้เร็วหรือไม่ โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีหลายขั้นตอนมาก ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ด้วย